องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่าโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนเป็นโรคที่มีดัชนีการสูญเสียสุขภาวะด้านความพิการ (disability-adjusted life years) สูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มโรคจิตเวชและยังพบว่ายังมีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าโรคจิตเวชอื่นๆ โดยพบความชุกชั่วชีวิต (lifetime prevalence) ของการพยายามฆ่าตัวตายของผู้ป่วย อยู่ที่ร้อยละ 25.6 – 42 และร้อยละ 10 - 20 จะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า และจำเป็นต้องได้รับการรักษาและการบําบัดที่ถูกต้อง โดยทุกวันนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา ซึ่งยังเป็นปัญหาของสังคมไทยที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งหาแนวทางในการบริหารจัดการโรคจิตเวช รวมถึงโรคไบโพลาร์ ควบคู่ไปกับสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคประชาชน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน ในพิธี กล่าวว่า “ปัญหาด้านสุขภาพจิตในปัจจุบันถือเป็นปัญหาที่ทุกคนควรหันมาให้ความสนใจ โดยเฉพาะวันไบโพลาร์โลกปีนี้ให้ใช้เป็นโอกาสในการทำความเข้าใจกับโรคไบโพลาร์ สำหรับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นการที่ทุกคนมองผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ต่างจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ ก็จะช่วยให้คนที่เป็นไบโพลาร์เข้าสู่กระบวนการรักษาและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนทั่วไป”
พญ. พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “กรมสุขภาพจิตมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผู้ป่วยทางจิตเวชสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรคอารมณ์สองขั้วเป็นโรคที่พบได้ประมาณร้อยละ 1.5 ถึง 5 โดยสาเหตุหลักของโรคไบโพลาร์ เกิดมาจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ และอาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนๆ นั้น ลักษณะอาการเด่นของโรคนี้คืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) สลับกับอาการอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) หรืออาจมีอาการแมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนก็ได้ ซึ่งการรักษาอย่างต่อเนื่องคือหัวใจของการควบคุมอาการและการลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้ ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามแผนการรักษา รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ ดังนั้น ญาติผู้ป่วยและบุคคลรอบข้างจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องได้รับการสนับสนุนให้มีความเข้าใจและความสามารถในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนและสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความสุขต่อไป”
นางมารีน คินยาร์ค สตูยาโนวิช ผู้จัดการใหญ่ ซาโนฟี่ ประเทศไทย กล่าวว่า “ซาโนฟี่ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งและขอขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ในการจัดงาน World Bipolar Day ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการรณรงค์และส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคจิตเวชและโรคไบโพลาร์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างดี ภายใต้การเปิดใจ ยอมรับ และให้ความเข้าใจจากครอบครัวและบุคคลรอบข้างในสังคม”
ศ.นพ. ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “พบคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ถึง 1 ล้านคน แต่เข้ามารับการบำบัดรักษาเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่คนไม่รู้ และคิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น หรือบางรายที่มีอารมณ์ซึมเศร้าเด่นกว่าแมเนีย ก็มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการวินิจฉัยและส่งผลต่อการรักษาที่ล่าช้าไปเฉลี่ยถึง 11 ปี ซึ่งอัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี อีกทั้งโรคอารมณ์แปรปรวน ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณร้อยละ 70-90 ประเทศไทยยังจำเป็นต้องเร่งพัฒนาด้านการจัดการสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบ รวมถึงมุ่งเน้นการศึกษาในการพัฒนาศักยภาพเพื่อการจัดการกับอาการของตนเองด้วยตัวผู้ป่วยจิตเวชเองที่ชัดเจน โดยปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมา ยังพบว่าการดูแลช่วยเหลือยังขาดเรื่องการติดตามและการกระตุ้นให้ใช้ทักษะต่างๆ ในสถานการณ์จริงอย่างต่อเนื่อง และขาดแหล่งข้อมูลความรู้ที่ช่วยในการสนับสนุนผู้ป่วยขณะเผชิญปัญหาเมื่ออยู่ที่บ้าน จึงทําให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงของอาการที่มากขึ้น และเกิดการกลับมาเป็นซ้ำของผู้ป่วยได้ ”
จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า การฝึกให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการแก้ไขปัญหา ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับปรุงและพัฒนาความรับผิดชอบต่อหน้าที่ตนเอง และทําให้ผู้ป่วยมีความรุนแรงของอาการลดลงได้ ที่สำคัญ ครอบครัวต้องดำเนินการแก้ไขโดยมีครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม เพราะหากคนในครอบครัวเข้าใจและลดการแสดงออกทางอารมณ์ที่สูงในครอบครัว ก็จะช่วยลดความรุนแรงของอาการผู้ป่วยได้
สำหรับแนวทางการรักษาโรคจิตเวช และโรคไบโพลาร์ อันเป็นที่ยอมรับแล้ว คือ วิธีรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการบําบัดทางจิตสังคม (Psychosocial therapy) เช่น จิตบําบัดปรับความคิดและพฤติกรรม จิตบําบัดเพื่อสัมพันธภาพระหว่างบุคคล สุขภาพจิตศึกษา และการบําบัดที่เน้นครอบครัว และจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า การให้สุขภาพจิตศึกษาร่วมกับการรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ดี อีกประเด็นที่ควรเฝ้าระวังคือ การนำคำว่า “ไบโพลาร์” มาพูดเล่นเชิงติดตลก จะเห็นได้ตามสื่อละครหรือรายการโทรทัศน์ที่มักจะนำส่วนหนึ่งของอาการมาพูดเล่นออกอากาศบ่อยครั้ง รวมถึงในระดับบุคคลทั่วไปที่การใช้คำและอาการ “ไบโพลาร์” มาเปรียบเปรยหรือล้อเล่น นับเป็นการสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้แก่ผู้รับสื่ออีกด้วย
ด้านประสบการณ์ตรงของ ดีเจเคนโด้ - เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร ในฐานะที่เคยป่วยเป็นไบโพลาร์ มาแชร์เพื่อเป็นกำลังใจและจุดประกายให้กับคนที่กำลังเผชิญกับโรคไบโพลาร์ ภาวะซึมเศร้า รวมถึงจิตเวชอื่นๆ ว่า “ไม่ต้องอายที่จะไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะโรคนี้สามารถควบคุมได้ ซึ่งในตอนแรกจริงๆ ผมก็ไม่รู้ว่าป่วยเป็นไบโพลาร์ เพราะช่วงแรกยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการของโรค อารมณ์จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งคนที่เป็นระยะแมเนีย (mania) จะออกแนวล้นๆ มีพลังเหลือเฟือ ไม่หลับไม่นอน แต่พออยู่ในระยะซึมเศร้า (depression) อาการก็ค่อยๆ ลง รู้สึกห่อเหี่ยว ไม่อยากทำอะไร จนวันหนึ่งเริ่มรู้ตัวว่าอาการหนัก เพราะใช้อารมณ์แค่ชั่ววูบทำร้ายตัวเอง ถึงแม้จะรู้ตัวแต่ก็ห้ามตัวเองไม่ได้ เพราะคิดอย่างเดียวว่าไม่อยากอยู่ ไม่มีคุณค่า หลังจากนั้นผมก็รีบปรึกษาจิตแพทย์ และเข้ารับการรักษาต่อเนื่องประมาณ 5 ปี จนสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ อยากเรียกร้องให้สังคมและภาครัฐทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้น ปรับทัศนคติว่าผู้ป่วยไม่ใช่บุคคลอันตราย และร่วมกันเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้กลับมาใช้ชีวิตได้ต่อไป”
ปัจจุบัน เราสามารถจัดการให้ความรู้หรือติดตามผลของการรักษาผ่านสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว บุคลากรทางการแพทย์ ผ่านการพูดคุย แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ หรือปรึกษาแพทย์ทาง Telemedicine ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาททางการแพทย์และมีส่วนช่วยในการติดตามผู้ป่วยด้านจิตเวชได้มากขึ้น นอกเหนือจากการควบคุมอาการด้วยยาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ทุกปัจจัยล้วนเป็นความท้าทายในการรักษาโรคไบโพลาร์ในอนาคต ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัวผู้ป่วย ภาคีเครือข่าย รวมถึงภาคประชาชน ในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วยโรคไบโพลาร์