วันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดีอี) ครั้งที่ 1/2564 พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบวงเงิน สำหรับสนับสนุนโครงการ ที่เข้าเกณฑ์ตามกรอบนโยบายการให้ทุนสนับสนุนประจำปี 2564 โดยการเปิดรับข้อเสนอโครงการ/กิจกรรม ที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดีอีปีนี้ กำหนดกรอบนโยบายการให้ทุนไว้ 6 ด้าน ได้แก่ 1. Digital Manpower “การศึกษากับคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล” การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนการจัดการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการกำหนดนโยบายพัฒนาบุคลากรของประเทศ 2. Digital Health “Advanced eHealth” ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านสาธารณสุข ครอบคลุมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์ การบริการสุขภาพและให้คำปรึกษาในทุกกลุ่มคนอย่างทั่วถึง 3. Digital Agriculture “เกษตรเชิงรุกด้วยนวัตกรรมดิจิทัล” การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการบริหาร จัดการเกษตรแบบเชิงรุก ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าและต่อยอดภาคเกษตร 4. Digital Technology “เทคโนโลยีดิจิทัลในโลกอนาคต” ส่งเสริมการนำอุปกรณ์และระบบดิจิทัล อาทิ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) มาใช้ในการบริหารจัดการเมือง ชุมชน และแก้ปัญหาสาธารณะ ตลอดจนยกระดับการบริหารจัดการในภาคต่าง ๆ 5. Digital Government & Infrastructure “รัฐบาลดิจิทัล” สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการออกแบบบริการภาครัฐ การบูรณาการและการทำงานร่วมกัน (Interoperability) เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ และ 6. Digital Agenda “โครงการตามนโยบายเร่งด่วน” โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (6) แห่ง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 สำหรับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เพื่อการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ ตามที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติในการประชุมบอร์ดดีอี เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา สำหรับโครงการที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาสนับสนุน ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลัก ๆ ได้แก่ เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เป็นโครงการนำร่องที่มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 และโครงการที่ขอรับการสนับสนุนต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนดีอี นอกจากนี้ ยังพิจารณาเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การจัดสรรประโยชน์และ การรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งได้เสนอให้มีการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทรัพย์สินทางปัญญา” เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ ต่อไป นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้มีการอนุมัติให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการพัฒนาบทเรียนออนไลน์และสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาบาลี ในส่วนของกองทุนแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหน่วยงานสนองพระราชดำริ