โลกในยุคปัจจุบัน คือ โลกแห่งนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสู่โลกแห่งอนาคต ที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม และเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของโลก โดยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" นอกจากจะได้มีการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุลมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลังให้มีลักษณะตามความต้องการของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแล้ว นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลยังได้มีความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในการที่จะพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างสรรค์อาหารเพื่อสุขภาวะของคนไทย ทั้งนี้เป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ รองศาสตราจารย์ ดร.กนกพร ไตรวิทยากร สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาและวิจัยการปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และของโลก โดยได้จัดทำแผนที่ข้อมูลทางพันธุศาสตร์ของมันสำปะหลัง และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนามันสำปะหลัง ทั้งในสายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และเพื่อการบริโภค โดยใช้ชื่อสายพันธุ์ว่า "พิรุณ" ซึ่งหมายถึง "พืชของเทวดา" ที่มีชีวิตขึ้นอยู่กับ "น้ำฝน" หรือ "พระพิรุณ" โดยมันสำปะหลังที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์จนเป็นที่ประจักษ์แพร่หลายในวงการเกษตรไทยที่ผ่านมา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กนกพร ไตรวิทยากร ได้แก่ พิรุณ 1, 2 และ 4 โดยเลขคี่ตั้งขึ้นสำหรับมันสำปะหลังสายพันธุ์อุตสาหกรรม และเลขคู่สำหรับสายพันธุ์เพื่อบริโภค รองศาสตราจารย์ ดร.กนกพร ไตรวิทยากร อธิบายว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดของมันสำปะหลัง คือ “ราก” ซึ่งโดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบหลัก คือ แป้ง และน้ำ โดยมันสำปะหลังสายพันธุ์อุตสาหกรรม จะมีปริมาณแป้งที่สูงกว่าสายพันธุ์เพื่อบริโภค ซึ่งหากนำหัวสดของมันสำปะหลังที่มีปริมาณแป้งสูงมาทำให้สุกแล้วรับประทาน จะพบว่ามีความแข็งมากกว่า เนื่องจากมีปริมาณแป้งที่มากกว่า จากผลงานวิจัยที่ได้พัฒนามันสำปะหลังสายพันธุ์พิรุณ 1 ซึ่งเป็นมันสำปะหลังสายพันธุ์อุตสาหกรรมที่ให้ผลผลิตสูง แป้งสูง และทนต่อโรคพืช และสายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อการบริโภค คือ สายพันธุ์พิรุณ 2 และ 4 ซึ่งเป็นมันสำปะหลังเพื่อบริโภคที่สามารถเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มรายได้จากการแปรรูปอาหาร นอกเหนือไปจากการปลูกมันสำปะหลังเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีราคาต่ำ และทำรายได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น จากการปรับปรุงสายพันธุ์จนได้มันสำปะหลังที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม รสชาติดี และปลอดกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้ที่มีอาการแพ้ รวมถึงความพยายามที่จะพัฒนาต่อยอดเป็น “แป้งย่อยยาก” ซึ่งเป็นแป้งที่ทนต่อการย่อยในกระบวนการย่อยอาหาร หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “แป้งที่ให้พลังงานต่ำ” เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร ได้กลายเป็นมิติใหม่ของอาหารเพื่อสุขภาพของไทย ซึ่งโดยปกติแล้วคนไทยโดยทั่วไปไม่ได้บริโภคมันสำปะหลังกันเป็นอาหารหลัก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กนกพร ไตรวิทยากร ยังได้มองไปถึงโอกาสในการพัฒนามันสำปะหลังต่อไปในรุ่นพิรุณ 3, 6 และ 8 ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนาต่อยอดด้านการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังในสายพันธุ์อุตสาหกรรมแล้ว ยังจะได้มีการปรับปรุงรสชาติให้ดีขึ้น และเสริมคุณค่าด้วยวิตามิน เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้สูงขึ้นในมันสำปะหลังเพื่อบริโภคอีกด้วย ก้าวต่อไปของ รองศาสตราจารย์ ดร.กนกพร ไตรวิทยากร จะพัฒนามันสำปะหลังสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคแห่งยุคสมัยที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ นับเป็นการสร้างสรรค์ผลงานสู่มิติใหม่ที่ดีขึ้น ตามหลักการที่เป็นหัวใจของการสร้างนวัตกรรม "เราต้องยอมรับความจริงว่าเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่กำลังพัฒนาสู่อุตสาหกรรม ดังนั้นการปลูกพืชใดๆ ต้องทำเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยที่สำคัญก่อนอื่นเราจะต้องปรับความรู้ และทัศนคติเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้สามารถสร้างผลผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวไทย และต่อไปยังชาวโลกให้ได้มากที่สุด"