ตามที่ได้ปรากฎมีข่าวแพร่สะพัดในกระแสโลกโซเซียลและสื่อหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้ผู้รับข่าวสารเกิดความสับสนในข้อเท็จจริง คณะผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับสาธารณชนทั้งภายในและภายนอก ให้ได้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 ประเด็นคือ ประเด็นที่หนึ่ง เรื่อง ของการปฎิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คบ.309/2563 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ยกคำขอทุเลาการบังคับตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 ข้อ 7 ข้อ 15 และ ข้อ 16 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฟ้องคดีหมายเลขดำที่
บ. 477/2561 โดยผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
1.เพิกถอนข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 ข้อ 4 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 15 และ ข้อ 16
2.เพิกถอนสัญญาจ้างผู้บริหารที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ จำนวน 5 ราย
3.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้เงินเดือน ค่าตอบแทน และเงินอื่น ๆ จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ลงนามในสัญญาจ้างบุคลากรที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารทั้ง 5 ราย
ประเด็นที่สองนายสุกิจ นิตินัย ได้มีหนังสือคำขอให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด โดยให้สภามหาวิทยาลัยทำสัญญาจ้างให้นายสุกิจ นิตินัย เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี และขอให้รองอธิการบดี 2 ท่าน คือ นางสาวอาภรณ์ บางเจริญพรพงค์ และนางสาวสุรีย์รัตน์ โง้ววัฒนา กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้าง
ประเด็นที่ 3 การลาออกของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
คณะผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ขอเรียนชี้แจงข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและหลักเกณฑ์การพิจารณาของมหาวิทยาลัย ดังนี้
๑. ประเด็นคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและการปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ คบ.309/2563 ลงวันที่ 15 ธันวาคม ๒๕๖๓ ยกคำขอทุเลาของผู้ฟ้องคดี ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 ข้อ 7 ข้อ 15 และ ข้อ 16 จึงมีผลทำให้ข้อบังคับดังกล่าวสามารถใช้ได้เป็นการทั่วไป จากการศึกษาในเนื้อหาของคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ประกอบความเห็นของนักกฏหมายแล้ว ไม่ได้ปรากฎข้อความใดในคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ว่าได้สั่งให้
มหาวิทยาลัยปฏิบัติอย่างไร หรือให้ทำสัญญาจ้างผู้ใด เพียงแต่ให้นำข้อบังคับที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลา ข้อ 7 ข้อ 15 และข้อ 16 ของข้อบังคับฯ มาใช้ได้ป็นการทั่วไป โดยนักกฎหมายหลายท่านให้ความเห็นว่าในเรื่องการทำสัญญาจ้างเป็นการใช้ดุลยพินิจทางการบริหารของฝ่ายปกครองภายใต้กฎ ข้อบังคับ ระเบียบทางราชการของหน่วยงานที่กำหนดไว้
๒. ประเด็นหนังสือคำขอใช้สิทธิของนายสุกิจ นิตินัย
ตามหนังสือลงวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ นายสุกิจ นิตินัย ได้อ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่
คบ.309/2563 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ยกคำขอทุเลาการบังคับตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 ข้อ 7 ข้อ 15 และ ข้อ 16 โดยขอให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด นายสุกิจ นิตินัย ได้มีคำขอดังนี้
1.ขอใช้สิทธิในการทำตามข้อ 16 วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 ให้สภามหาวิทยาลัย
ทำสัญญาจ้างให้ตนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่
2. ขอให้รองอธิการบดีทั้งสองท่านที่ได้หยุดการปฏิบัติงาน ให้ดำเนินการตามข้อบังคับ ข้อ 16 วรรคสองของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 โดยให้เป็นไปตามระยะเวลาของสัญญาจ้างที่ได้ทำไว้
สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้พิจารณาหนังสือการขอใช้สิทธิของนายสุกิจ นิตินัย พร้อมด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คบ.309/2563 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ประกอบกับความเห็นของนักกฎหมายหลายท่าน ที่เห็นว่าศาลปกครองสูงสุดไม่ได้มีคำสั่งให้มีการจ้างหรือสั่งจ้างผู้ใด และไม่ปรากฎข้อความใดในคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ได้สั่งให้มหาวิทยาลัยทำสัญญาจ้างให้นายสุกิจ นิตินัย เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลา จึงมีผลทำให้ข้อบังคับฯ ข้อ 7 ข้อ 15 และ ข้อ 16 สามารถใช้บังคับได้เป็นการทั่วไป โดยที่สภามหาวิทยาลัยได้ใช้ข้อกฎหมายตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลา คือ ข้อ ๑๖ วรรคหนึ่ง แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๖๑ มาใช้ในการพิจารณาคำขอใช้สิทธิตามกฎหมายของนายสุกิจ นิตินัย ที่ขอใช้สิทธิตาม ข้อ ๑๖ วรรคหนึ่ง แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งจากการพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวผู้ที่จะทำสัญญาได้จะต้องมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานมหาวิทยาซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี แต่นายสุกิจ นิตินัย ได้เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ และยังไม่ได้มีสถานะมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะทำสัญญาได้ตามคำขอใช้สิทธิของนายสุกิจ นิตินัย ตามข้อ ๑๖ วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับฉบับดังกล่าว โดยการพิจารณาได้ใช้ดุลยพินิจในการตีความกฎหมายในข้อกฎหมายตามคำขอใช้สิทธิอย่างเคร่งครัดและไม่ได้มีเจตนาขัดหรือฝ่าฝืนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในการยกคำทุเลาไม่ได้ผูกพันให้มีการจ้างหรือสั่งจ้างผู้ใด และการทำสัญญาจ้างเป็นดุลยพินิจของสภามหาวิทยาลัย
ทั้งนี้สภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาข้อมูลในรอบด้าน โดยคำนึงถึงผลดี ผลเสีย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับการขอใช้สิทธิทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของนายสุกิจ นิตินัย แล้ว สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าการทำสัญญาจ้างจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อย ความต่อเนื่องในการบริหารราชการ และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง ประกอบกับนายสุกิจ นิตินัย ได้ขาดสถานะจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากได้เกษียณอายุราชการแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 และไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับฯ สภามหาวิทยาลัยจึงมีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ที่จะให้สภามหาวิทยาลัยทำสัญญาจ้างนายสุกิจ นิตินัย เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อกลับมาปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 7 กันยายน 2564
ส่วนประเด็นคำขอของนายสุกิจ นิตินัย ที่ขอให้รองอธิการบดีทั้งสอง คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาภรณ์ บางเจริญพรพงค์ และนางสาวสุรีย์รัตน์ โง้ววัฒนา ที่ได้หยุดการปฏิบัติงาน กลับเข้าปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย นั้น เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาสัญญาจ้างของผู้ช่วยศาสตราจารย์อาภรณ์ บางเจริญพรพงค์ และ ของนางสาวสุรีย์รัตน์ โง้ววัฒนา แล้ว โดยสัญญาจ้างทั้งสองฉบับ ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2561 ซึ่งมีกฎหมายที่ใช้บังคับในวันทำสัญญา คือ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2549 และเมื่อตรวจสอบข้อความในสัญญาจ้างได้ปรากฎว่ามีข้อความในสัญญาจ้างดังกล่าวขัดหรือแย้งกับข้อบังคับฯ ในหลายส่วนและเป็นสาระสำคัญที่ทำให้สัญญาจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้
1.ในวันที่ทำสัญญาจ้างคือ วันที่ 2 สิงหาคม 2561 นางสาวอาภรณ์ บางเจริญพรพงค์มีอายุ 65 ปี 8 เดือน จึงมีอายุเกินที่กำหนดในข้อ 10 วรรคท้าย ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2549 นางสาวอาภรณ์บางเจริญพรพงค์ จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อ 49 ของข้อบังคับเดียวกัน โดยเห็นว่าสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น
2. สัญญาจ้างทั้งสองฉบับ รายนางสาวอาภรณ์ บางเจริญพรพงค์ และนางสาวสุรีย์รัตน์ โง้ววัฒนา ไม่ได้กำหนดอายุสัญญาไว้ จึงต้องมีระยะเวลาการจ้าง 1 ปี ตามข้อ 10 วรรคท้าย ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นกฎที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา ดังนั้นสัญญาจ้างลงวันที่ 2 สิงหาคม 2561 จึงครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 สัญญาจ้างทั้งสองฉบับจึงสิ้นสภาพการบังคับแล้ว
3. ในข้อ 4.5 ของสัญญาจ้างทั้งสองฉบับ กำหนดให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อ 47 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2549 โดยในวันทำสัญญาจ้างนางสาวอาภรณ์ บางเจริญพรพงค์ มีอายุ 65 ปี 8 เดือน และนางสาวสุรีย์รัตน์ โง้ววัฒนา ซึ่งมีอายุ 62 ปี 3 เดือน จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฏหมาย เป็นสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว ตามข้อ ๔๗ (๔) กำหนดไว้ว่าพนักงานมหาวิทยาลัยพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เมื่อ (๔) อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ปรากฎตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2549 ดังนั้นจึงเห็นว่าได้พ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุมาตั้งแต่ต้นแล้ว
ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้นายสุกิจ นิตินัย ได้รับทราบ และได้แจ้งสิทธิในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๓. ประเด็นการลาออกของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
ตามที่นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้ครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จำนวน 11 ราย ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการปฎิบัติหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย เสนอต่อปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยได้เคารพสิทธิในการตัดสินใจตามเหตุและผลที่ทุกท่านได้แจ้งมาตามหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 และถือโอกาสนี้ ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่ได้เคยร่วมปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงทพมาโดยตลอด
สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้พิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้การบริหารงานราชการของมหาวิทยาลัยมีความต่อเนื่อง และไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ
โดยอาศัยความในมาตรา 16 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 จัดให้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิสามัญ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 เพื่อพิจารณาดำเนินการในวาระเร่งด่วนเพื่อให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและมิให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ โดยได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ประกอบความในข้อ 4 วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2548 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในคราวการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ได้พิจารณาและมีมติเลือกให้รองศาสตราจารย์ชาญ ถนัดงาน กรรมการสภามหาวิทยาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ โดยให้มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาและมีมติให้ดำเนินการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน ๑๑ ตำแหน่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม เข้ามาช่วยเหลือในการบริหารจัดการและพัฒนามหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวยิ่งขึ้นไป และขอเรียนว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้มีประกาศสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่าง เรียบร้อยแล้ว
ในการนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นห่วงความรู้สึกของผู้รับรู้ข่าวสารจนทำให้เกิดความวิตกกังวัลและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มหาวิทยาลัยขอเรียนแจ้งว่า การดำเนินงานบริหารภายในของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ สามารถดำเนินการได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินกำหนด ตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พ.ศ. 2548 ในมาตรา 15 วรรคสาม และ มาตรา 16 วรรคสี่ ประกอบความในข้อ 4 วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย .ศ.พ 2548 ขอเรียนว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล มุ่งดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายในมหาวิทยาลัย มีความพร้อมยินดีที่จะเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเกิดประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาลมากที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานและสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณชนได้รับรู้ข่าวสารอย่างถูกต้องที่เป็นข้อเท็จจริง ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในคราวการประชุม วิสามัญ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 จึงมติเห็นชอบให้เปิดเผยมติที่ประชุม ครั้งที่ 3 /2564 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 วาระที่ 3.2 ดังนี้
มติการประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
วาระที่ 3.2 การพิจารณา กรณี หนังสือขอเข้ากลับปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี ของนายสุกิจ นิตินัย
มติสภา มทร.กรุงเทพ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ที่จะให้สภามหาวิทยาลัยทำสัญญาจ้างนายสุกิจ นิตินัย เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อกลับมาปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 7 กันยายน 2564 โดยที่ประชุมได้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การลงมติในหมวด 3 ข้อ 17 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2548 ในการพิจารณาคำขอกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีของนายสุกิจ นิตินัย ตามหนังสือของนายสุกิจ นิตินัย ลงวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ขอใช้สิทธิในการทำตามข้อ 16 วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 ที่ขอให้สภามหาวิทยาลัยทำสัญญาจ้างตนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ซึ่งสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คบ.309/2563 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ประกอบกับความเห็นของนักกฎหมาย ที่เห็นว่าศาลปกครองสูงสุดไม่ได้มีคำสั่งให้มีการจ้างหรือสั่งจ้างผู้ใด เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาจึงมีผลทำให้ข้อบังคับฯ ข้อ 7 ข้อ 15 และ ข้อ 16 สามารถใช้บังคับได้เป็นการทั่วไป โดยที่สภามหาวิทยาลัยได้ใช้ข้อกฎหมายตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลา คือ ข้อ ๑๖ วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๑ มาใช้ในการพิจารณาคำขอใช้สิทธิของนายสุกิจ นิตินัย ที่ได้ขอใช้สิทธิตาม ข้อ ๑๖
วรรคหนึ่ง แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งจากการพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวผู้ที่จะทำสัญญาได้จะต้องมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานมหาวิทยาซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี แต่นายสุกิจ นิตินัย
ได้เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ และยังไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จึงพิจารณาเห็นว่านายสุกิจ นิตินัย ได้ขาดสถานะจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องมีสถานะใดสถานะหนึ่ง เช่น เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีผลผูกพันต่อหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้หลักทางปกครองในการจัดจ้างบุคคลให้คำนึงถึง ประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อย ความต่อเนื่องในการบริหารราชการ และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง ในกรณีนี้จึงเห็นว่า นายสุกิจ นิตินัย ไม่มีสถานะที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะทำสัญญาได้ตามคำขอใช้สิทธิของนายสุกิจ นิตินัย ตามข้อ ๑๖ วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับฉบับดังกล่าว โดยการพิจารณาได้ใช้ดุลยพินิจในการตีความกฎหมายในข้อกฎหมายที่ขอใช้สิทธิอย่างเคร่งครัดและไม่ได้มีเจตนาขัดหรือฝ่าฝืนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในการยกคำทุเลาไม่ได้ผูกพันให้มีการจ้างหรือสั่งจ้างผู้ใด และการทำสัญญาจ้างเป็นดุลยพินิจของ
สภามหาวิทยาลัย ดังนั้นสภามหาวิทยาลัยจึงพิจารณาไม่เห็นชอบกับคำขอใช้สิทธิในการทำสัญญาจ้างพนักงาน มหาวิทยาลัย ตามข้อ 16 วรรคหนึ่งของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 ของนายสุกิจ นิตินัย ซึ่งได้เกษียณอายุราชการไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ประกอบกับเหตุผลในหลักทางปกครองในการจัดจ้างบุคคลให้คำนึงถึง ประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อย ความต่อเนื่องในการบริหารราชการ และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง ส่วนประเด็นคำขอของนายสุกิจ นิตินัย ที่ขอให้รองอธิการบดีทั้งสองราย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาภรณ์ บางเจริญพรพงค์ และนางสาวสุรีย์รัตน์ โง้ววัฒนา กลับเข้ามาปฎิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างนั้น ยังมีประเด็นของความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของสัญญาจ้างจึงไม่สามารถพิจารณาให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด