เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ บุกรัฐสภา เสนอแก้ไข พรบ.จราจรทางบก เพิ่มโทษหนักคนเมาแล้วขับ ทำผิดซ้ำสองต้องติดคุกไม่รอลงอาญา ยันผลโพล ร้อยละ 94 เอาด้วย เชียร์ขยายผลผู้ขายเหล้าเบียร์ให้คนเมาไปก่อเหตุร่วมรับผิดด้วย วอนวัดแอลกอฮอล์อุบัติเหตุทุกราย ปิดช่องอ้างเจ็บหนัก เหมือนกรณีไฮโซปลาวาฬ ​ นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสาน งานเครือข่าย พัฒนาคุณภาพชีวิต และนายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และภาคีกว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่พ.ศ.....) เพื่อเรียกร้องให้เพิ่มโทษกรณีเมาแล้วขับทำความผิดซ้ำ ต้องติดคุกสถานเดียว โดยไม่รอลงอาญา ส่วนผู้ที่ขายให้คนเมาแล้วก่อเหตุต้องมีส่วนรับผิดร่วมด้วย เพื่อสร้างความตระหนัก หยุดความสูญเสียบนท้องถนน หวั่นเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ที่จะมาถึง คนดื่มหนักขึ้นทำอุบัติเหตุ เจ็บตายพุ่งอีก ​ นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า จากการที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....... เครือข่ายฯจึงขอนำเสนอข้อมูลและข้อเรียกร้อง เพื่อประกอบการพิจารณา คือ กรณีอุบัติเหตุจากคนดื่มแล้วขับที่กระทำความผิดซ้ำ และคนขายที่ขาดความรับผิดชอบ ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ แล้ดื่มแล้วขับ ทั้งนี้ จากข้อมูล พบว่า เฉพาะจำนวนผู้ที่กระทำความผิดฐานดื่มแล้วขับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เกิดขึ้น 11,997 คดี ในจำนวนนี้ทำผิดซ้ำ 277 ราย ขณะที่ปีใหม่ 2564 จำนวนคดีดื่มแล้วขับเกิดขึ้น 4,435 คดี แม้จะลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ผู้กระทำซ้ำกลับมีจำนวนใกล้เคียงกับปีที่แล้ว นั่นคือ 203 ราย ​ “ดื่มแล้วขับ จับมาคุมประพฤติ และโทษจำคุกให้รอลงอาญานั้น ไม่สามารถทำให้นักดื่มเกิดความเกรงกลัวกฎหมาย และยังคงมีพฤติกรรมเดิมๆ ซึ่งชี้ชัดจากตัวเลขคนดื่มแล้วขับ ทำความผิดซ้ำลดลงน้อยมาก สอดคล้องกับข้อมูลสวนดุสิตโพล ต่อมาตรการเพิ่มโทษและห้ามการรอลงอาญาในความผิด “ดื่มแล้วขับ” ในกลุ่มตัวอย่าง 2,152 ราย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า กว่าครึ่ง ร้อยละ 56.37 เคยพบเห็นหรือตกอยู่ในเหตุการณ์เมาแล้วขับ โดยเกือบทั้งหมด ร้อยละ 93.96 เห็นด้วยว่าควรมีการเพิ่มโทษ สำหรับผู้ที่ทำผิดซ้ำ ในข้อหาขับรถขณะเมาสุรา และร้อยละ 87.45 เห็นด้วยหากผู้ที่กระทำผิดซ้ำในข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นครั้งที่สองควรถูกตัดสินโทษจำคุกอย่างเดียวโดยไม่รอลงอาญา เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส” นางสาวเครือมาศ กล่าว ด้าน นายเจษฏา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. กล่าวว่า เพื่อให้การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก มีประสิทธิภาพ ลดอุบัติเหตุเมาแล้วขับได้มากขึ้น เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯดังนี้ 1.ระบุในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ลงโทษผู้ที่ทำความผิดซ้ำ เมื่อเกิดอุบัติเหตุดื่มแล้วขับ ต้องจำคุกทุกกรณี โดยไม่รอลงอาญา 2.กำหนดความผิดร่วมของผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้คนเมาครองสติไม่ได้แล้วไปเกิดอุบัติเหตุ ให้ร่วมรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย มิใช่แค่ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 29 เท่านั้น และ3.เครือข่ายฯ เป็นห่วงว่าในช่วงสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ สถานการณ์การดื่มสุราจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงขอเรียกร้องผ่านไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งมีมาตรการเชิงรุก เป็นยาแรงเพื่อลดอุบัติเหตุให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม มิใช่วนเวียนอยู่กับมาตรการเดิมๆที่ได้ผลน้อย ทั้งนี้ในช่วงท้ายเครือข่ายได้เสนอให้ระบุเรื่องการวัดแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุทุกรายด้วย หวั่นซ้ำรอยกรณีไฮโซปลาวาฬ ที่ไม่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ โดยข้ออ้างผู้ก่อเหตุเจ็บหนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทำได้หลายวิธี