กสศ.ผนึกสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานปราจีนบุรี ดึงมืออาชีพสอน “ขายของออนไลน์” เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา เริ่มต้นเลือกสินค้าที่ตัวเองถนัดรู้จริง แนะเทคนิค รีวิว โพสต์ ทำเพจ ไลฟ์สด เปิดตลาดขายบนเฟสบุ๊คหารายได้เสริมฝ่าพายุดิจิทัลสู้วิกฤตโควิด – 19 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานปราจีนบุรีและกลุ่มสหภาพแรงงานปราจีนบุรี จัดกิจกรรมฝึกอบรมทักษะอาชีพเสริม “ขายของออนไลน์” แก่เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาเพื่อให้มีอาชีพเสริมระหว่างทำงานประจำในโรงงาน โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงมาบอกเล่าเทคนิคและเคล็ดลับการหารายได้เสริมจากการจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ : ภาคตะวันออก (จังหวัดปราจีนบุรี) นายไกรมิตร พงษ์นิยะกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี กล่าวว่าในยุคแรงงาน 4.0 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology) ทั้งปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) หรือ หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงานในอนาคต ยิ่งในสถานการณ์โควิด – 19 ดังนั้นเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา ควรปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยการเสริมทักษะ รีสกิล (Reskill) อัพสกิล (Upskill) และ นิวสกิล (Newskill) ด้วยการมีอาชีพเสริม สำหรับวิธีเริ่มต้น “ขายของออนไลน์” ควรขายสินค้าที่ตัวเองถนัด ใจรักและชื่นชอบมีความรู้ความเข้าใจในสินค้าตัวนั้นอย่างลึกซึ้ง สามารถบอกเล่าด้วยความรู้สึกอย่างเข้าใจจากการได้ทดลองใช้จริง ซึ่งในช่วงเริ่มต้นควรเลือกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่้ใช้แล้วหมดไปและมีความต้องการใช้ซ้ำ เช่น ผงซักฟอก หน้ากากอนามัย ยากันยุง เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ฯลฯ มุ่งเน้นสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาไม่แพง สำหรับเทคนิคการขาย มี 3 ข้อ คือ 1. “เรียนรู้” คุณสมบัติของสินค้าว่ามีความแตกต่าง หรือ มีจุดเด่นกว่ายี่ห้ออื่น ๆ ทั่วไปอย่างไร สามารถถ่ายทอดได้ด้วยข้อความสั้น ๆ กระชับเข้าใจง่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 2. “ทดลองใช้” ด้วยตัวเองก่อนเพื่อยืนยันคุณสมบัติข้อดีข้อเสียของสินค้า และ 3. “รีวิว” เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นและเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านทางโซเซียลมิเดีย เช่น Facebook ซึ่งควรใช้รูปหน้าปกเป็นรูปของตัวเอง น.ส.นิดา อาจพินิจ วิศวกร แผนก Service Engineering บมจ. เบ็นซ์มาร์ค อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าในฐานะพนักงานโรงงานคนหนึ่งย่อมเข้าใจชีวิตคนงานซึ่งมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด – 19 จึงหันมาประกอบอาชีพเสริมขายของออนไลน์ ชื่อเพจ tick.nida จึงอยากแนะนำน้อง ๆ หากมีทุนเพื่อไปจัดซื้อสินค้ามาขายของออนไลน์ สิ่งที่น้อง ๆ ควรเตรียมตัวมี 5 เรื่อง ดังนี้ 1.สร้าง Facebook ส่วนตัวเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ไลฟ์สด หรือ สร้างเพจเพื่อเป็นช่องทางหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่จะมาซื้อสินค้า 2.เทคนิคการโพสต์ เนื่องด้วย Facebook มีข้อจำกัดห้ามขายสินค้า จึงควรเลือกโพสต์ภาพและเนื้อหาที่เชื่อมโยงหรือเลี่ยง ๆ โดยไม่ระบุถึงการขายหรือราคาโดยตรง อาทิ ขนาดคราบสนิม(Pure)ยังเอาอยู่! , ดาราดังยังใช้(Pure)! หรือ ชะอมกำใหญ่ปลอดสารนะจ๊ะ! หากลูกค้าสนใจย่อมจะทักเข้ามา นอกจากนี้ 3.เปิดบัญชีธนาคาร ควรมีหลากหลายแห่งเพื่อเป็นทางเลือกและสร้างความสะดวกแก่ลูกค้าได้ใช้บริการ 4.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย น้อง ๆ ควรแยกบัญชีขายของออนไลน์ออกมาเฉพาะระหว่างเงินลงทุนกับกำไร โดยต้องไม่นำเงินทุนในการซื้อของมาใช้ ควรใช้เฉพาะเงินกำไรเท่านั้น และ 5.การทำ COD หรือ Cash On Delivery จ่ายเงินปลายทาง ควรเลือกว่าแต่ละบริษัท คิดคำนวณราคาค่าบริการ อาทิ ขนาดกล่อง น้ำหนัก การติดต่อลูกค้าให้ได้รับของ ระยะเวลาขนส่ง หรือ ประเภทสินค้าทั้งที่เป็นของสดและของแห้งแต่ละบริษัทย่อมให้บริการที่แตกต่างกัน จงยึดผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับสูงสุดเป็นตัวตั้ง นายปัญญา ตลุกไธสง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ในฐานะประธานสหภาพแรงงานฮิตาชิแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน คือ การใส่ใจ ใฝ่เรียนรู้และแสวงหาประสบการณ์ด้วยตัวเองผ่านการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับทุนและความรู้จากกิจกรรมที่ทาง กสศ. มอบให้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นให้เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาได้มีอาชีพทางเลือกท่ามกลางสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการจ้างงานในอนาคต