จากเมื่อปีพ.ศ.2561 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดย วิทยาลัยการจัดการ (CMMU) ได้ร่วมกับ มูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดศูนย์ผู้วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน (Ph.D. in Sustainable Leadership) ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย และแห่งแรกของโลก โดยได้มีการพัฒนารูปแบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับศาสตร์พระราชา “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จนต่อมาในปีพ.ศ.2562 ได้มีการขยายผลสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประสานงานและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศและประชาคมอาเซียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยจะก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำคือ การได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน ด้วยแนวคิด "Great University is Great Contribution" จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถก้าวขึ้นสู่เวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นคือ การพยายามตอบโจทย์ว่า มหาวิทยาลัยได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม ประเทศชาติ และภูมิภาคอาเซียนเพียงใด ซึ่งประเด็นเร่งด่วนต่างๆ ทางสังคม และเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบัน สามารถนำมาใช้ในการทำวิจัยเพื่อการชี้นำนโยบาย (Policy Advocacy) สำหรับประเทศชาติ และภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไปในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้กล่าวเสริมถึงบทบาทของ CMMU ในการส่งเสริมงานของศูนย์ ACSDSD นอกจากการเปิดหลักสูตรปริญญาเอกในสาขาที่เกี่ยวข้อง วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งสร้างคลังความรู้ทางด้านการจัดการ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิกอาเซียน และการบรรลุวิสัยทัศน์ “Wisdom of the Land in Management Education” ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งการที่ศูนย์ ACSDSD มาจัดตั้งที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบเหมือนการ “เปิดประตูสู่อาเซียน” นำความรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่ในมุมมองของทั่วโลก
นายณรงค์ ศศิธร ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ ACSDSD วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์ ACSDSD เป็นกลไกสำคัญของอาเซียนในการผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกคน และการเผยแพร่แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี รวมทั้งจะเป็นแกนกลางที่จะร่วมมือกับมิตรประเทศในการนำแนวความคิดใหม่ๆมาสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDGs และการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีคนเป็นศูนย์กลางมาตั้งแต่ต้น
โดยภารกิจอีกด้านที่สำคัญคือ ศูนย์ ACSDSD จะสนับสนุนให้มีงานวิจัยที่มีคุณภาพด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างคลังความรู้ที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน การพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤติ COVID-19 ในปัจจุบันที่เป็นประเด็นสำคัญในขณะนี้ อาเซียนได้กำหนดแนวทางที่ครอบคลุม โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยศูนย์ ACSDSD จะทำหน้าที่สนับสนุน และติดตามประเมินผลต่อไป