กรมอุทยานฯ เดินหน้าต่อเนื่อง เปิดเวทีสัญจร จ.เลย สร้างการรับรู้ ต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับใหม่) หวังภาคประชาชนจับมือภาครัฐร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ป่าอยู่ได้... คนอยู่ได้”
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่โรงเรียนอนุบาลชุมชนภูกระดึง จ.เลย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมสัญจรภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้ในภาคประชาชนต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) โดยมีนายคมกริช เศรษบุบผา ผู้อำนวยการส่วนจัดการท่องเที่ยวและนันทนาการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่8 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และคณะผู้บริหารส่วนภูมิภาค คณะผู้บริหารส่วนการปกครอง และประชาชนในพื้นที่ ร่วมงาน
นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่8 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เนื่องจากพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติที่มีอยู่เดิมไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีการปรับปรุงให้เหมาะสม โดย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) ซึ่งประกาศใช้ไปเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2562 แล้วนั้น ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้ปฏิบัติการตามภารกิจมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันประชาชนยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน ในการดูแลพื้นที่ป่าให้เป็นประโยชน์ของประเทศ และเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศตามพันธกรณี ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก โดยเจตนารมณ์สำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ กฎหมายที่ทำให้เราอยู่รวมกันได้ ภายใต้แนวคิด “ป่าอยู่ได้...คนอยู่ได้” ดังนั้น การมุ่งสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงกำหนดให้ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเกี่ยวกับกฎหมาย ภายใต้แนวคิด คนสมดุล ป่าสมบูรณ์ โดยการจัดเวทีเสวนาในครั้งที่3นี้ นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่จะสร้างการรับรู้ต่อภาคประชาชน โดยเฉพาะชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืนต่อไป
นายรวมศิลป์ กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (ฉบับใหม่) ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาที่ได้สะท้อนออกมาจากทุกฝ่าย เช่น เรื่องของการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่อาศัย การใช้เป็นที่ดินทำกิน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจาก พ.ร.บ. ฉบับเดิมโดยเฉพาะมาตรา 64 ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่มีบทบัญญัติให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิ์ในที่ดินนั้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินให้ได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยสิ้นสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ภายใต้เงื่อนไขกรอบเวลา 240 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นการแก้ไขปัญหาการบุกรุกครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ และเป็นการช่วยเหลือประชาชน โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การอยู่อาศัยหรือทำกินตลอดจนการสิ้นสุดการอนุญาต ภายใต้มาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายรวมศิลป์ กล่าวด้วยว่า ใน พ.ร.บ.กฎหมายใหม่สามารถให้ชาวบ้านหากินในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 หมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลที่อนุญาตให้เก็บหา หรือใช้ประโยชน์ตามประเภท ชนิด และจำนวนที่กำหนด เพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยจะมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตการเก็บหา หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และการสิ้นสุดการอนุญาต ตลอดจนมาตรการในการกำกับดูแล การตรวจสอบ การติดตาม การควบคุมผลกระทบ และการฟื้นฟูพื้นที่หรือทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึง การประเมินผลการดำเนินโครงการและแนวทางในการลดการพึ่งพิงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าว
“ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางแห่ง มีการเก็บหาทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน สำหรับกฎหมายใหม่มีการระบุให้มีการสำรวจและทำรายละเอียด ทั้งชนิดของทรัพยากร บางชนิดที่เกิดใหม่ทดแทนได้ ช่วงเวลาในการเก็บและอยู่ในกรอบที่กำหนด เช่น เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาต เก็บตามชนิดตามประเภทที่ให้เก็บ เก็บในบริเวณที่ให้เก็บ เก็บในระยะเวลาที่ให้เก็บ เก็บเพื่อดำรงชีพอย่างปกติ ข้อกำหนดเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นข้อผ่อนปรน ที่ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล”นายรวมศิลป์ กล่าว
นายรวมศิลป์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้ว พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้มีการเพิ่มบทกำหนดโทษ อัตราโทษที่มากขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบจาก พ.ร.บ. ฉบับเดิม อาทิ ล่าสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 -2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่ผิดต่อข้อกฎหมายใหม่ อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมของคนกับป่าได้อย่างสมดุล ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ (ฉบับใหม่) ที่ว่า “ป่าอยู่ได้... คนอยู่ได้”