นอกเหนือจากโรคอัลไซเมอร์ ที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของสมองแล้ว ยังมีโรคที่ส่งผลให้ร่างกายมีอาการสั่นเกร็งตามส่วนต่างๆมีผลต่อการเคลื่อนไหว และอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และหน้าที่การงานของคุณได้อย่างคาดไม่ถึง นั่นคือ โรคพาร์กินสัน (Parkinson) และโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) โรคพาร์กินสัน เกิดจากการที่เซลล์สมองในส่วนของก้านสมองส่วนกลาง (Midbrain) มีหน้าที่สร้างสารเคมีที่ชื่อว่า โดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเริ่มทำงานเสื่อมสภาพลงจนไม่สามารถผลิตสารนี้ได้อีกต่อไป จึงมีผลให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ พบว่ามีปัจจัยบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเสื่อมของสมอง เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีบางชนิด โรคนี้มักจะพบในผู้สูงอายุ ในช่วงอายุ 65-80 ปี ขึ้นไป และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงถึง 1.5 เท่า โดยปกติแล้วโรคนี้จะมีอาการที่แสดงออกมามาก หรือน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่ที่เป็นเหมือนกันคือ โรคนี้จะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนโรคทางสมองอื่น ๆ และอาการจะเพิ่มมากขึ้น หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน โดยอาการที่แสดงออก มีหลายอาการ เช่น อาการสั่นเกร็ง (Tremor) มักจะมีอาการที่นิ้วมือ แขน ขา โดยจะเกิดอาการสั่นเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหว และไม่สามารถควบคุมได้ หากเริ่มทำกิจกรรมอาการสั่นจะลดลง หรือหายไป และอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) ใช้เวลานานในการเคลื่อนไหว หรือช้ากว่าปกติ ทำให้เกิดความยากลำบากในชีวิตประจำวัน ท่าเดินผิดปกติ (Posture instability) ผู้ป่วยจะมีอาการก้าวเดินสั้นๆในช่วงแรก และจะก้าวยาวขึ้น จนเร็วมาก และไม่สามารถหยุดได้ทันที นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหลังค่อม แขนไม่แกว่ง หรือเดินแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์ การแสดงสีหน้าเหมือนใส่หน้ากาก (Masking face) ผู้ป่วยจะมีใบหน้าเฉยเมย เวลาพูดมุมปากจะยกขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้ดูเหมือนไม่มีอารมณ์ร่วม และพูดเสียงเบา ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการพูดไม่ชัด หรือเสียงอาจหายไปในลำคอ บางรายอาจมีอาการพูดรัว เร็ว ระดับเสียงในการพูดอยู่ในระดับเดียวกันตลอด และอาจมีน้ำลายสอออกมาคลออยู่ที่มุมปาก โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor หรือ ET) เป็นอาการทางระบบประสาทที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการสั่นของอวัยวะได้ เช่น มีอาการมือสั่นในขณะที่เคลื่อนไหวหรือยกมือขึ้น แตกต่างกับโรคพาร์กินสัน ที่จะเกิดอาการสั่นเมื่ออยู่นิ่ง ๆ ซึ่งโรค ET พบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ก็มีผู้ป่วยที่ตรวจพบอาการดังกล่าวตั้งแต่อายุยังน้อยคือช่วงอายุ 20 ปี และกลุ่มวัยหนุ่มสาว โดยมักเกิดกับคนที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน ในระยะแรกอาการจะไม่รุนแรงแต่จากนั้นจะค่อยๆพัฒนาขึ้น ในผู้ป่วยบางรายนั้นอาการสั่นจะมีความรุนแรงถึงขั้นที่ทนไม่ได้ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังจำกัดความเป็นอิสระในการใช้ชีวิตเมื่ออาการของโรคมีพัฒนาการขึ้น ท้ายที่สุดแล้วผู้ป่วยบางรายจะไม่สามารถหยิบจับช้อนส้อมทานอาหาร แต่งตัว ยกแก้วน้ำขึ้นดื่มเอง หรือ เขียนหนังสือได้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย จนอาจไม่กล้าออกนอกบ้าน เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยได้เช่นกัน การรักษาโรคพาร์กินสัน โดยทั่วไปมี 3 วิธี คือ การรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด และการผ่าตัด การรับประทานยา เพื่อเพิ่มปริมาณสารเคมีโดปามีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยแพทย์จะพิจารณาการให้ยาตามอาการของผู้ป่วย การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง และการทรงตัว ผู้ป่วยจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น และ การผ่าตัด มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่มาก หรือผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากการรับประทานยา การผ่าตัดจะใช้วิธีฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง เรียกว่า การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) ซึ่งการผ่าตัดก็อาจตามมาด้วยความเสี่ยง และมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ซึ่งการรักษาทุกรูปแบบ ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ผู้ทำการรักษา นอกเหนือจากการรักษาข้างต้นแล้ว ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีการรักษา อาการสั่นบางชนิดของโรคพาร์กินสัน (Tremor Dominant Parkinson’s Disease) และ โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) ด้วยเครื่อง Exablate Neuro โดยใช้เทคนิคการยิงรวมศูนย์คลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพ MRI (MRgFUS; MRI Guided Focus Ultrasound) ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดแบบไม่มีบาดแผล และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือในผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์จะเข้ารับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไว้ภายในร่างกาย Exablate Neuro ช่วยให้แพทย์สามารถกำหนดเป้าหมาย และรักษาสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการสั่นได้อย่างแม่นยำ หลังการรักษาอาการสั่นจะหาย หรือลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติภายใน 1 วัน นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ช่วยลดจำนวนการเดินทางไปโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงจากความแออัดของผู้ป่วย และผู้ติดตามในช่วงสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 รวมถึงจากโรคติดต่ออื่น ๆ ได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มากกว่า 5,000 รายแล้ว ตามโรงพยาบาลชั้นนำทั่วโลกที่มีชื่อเสียงด้านการรักษาและเทคโนโลยีทางการแพทย์กว่า 50 แห่งในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกาเช่น มาโยคลินิก (Mayo Clinic) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University Hospital) บริกแฮมแอนด์วีเมนส์ (ฮาร์วาร์ด) (Brigham and Women’s (Harvard)) และ ดิ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (The Imperial College London) สำหรับประเทศไทย นับเป็นศูนย์การรักษาแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี Exablate Neuro System โดยปัจจุบันมี 2 แห่งได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลศิริราช โทร 02-414-0135 คุณสุรีรัตน์ จันทร์พาณิชย์ ห้องตรวจ MRI อาคารนวมินทรบพิตร ชั้น 4 ในวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 8.00-16.00 น. หรือ ศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทรศัพท์ 02-576-6000