วันที่ 25 ก.พ.ที่โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี จังหวัดนครปฐม
นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. มอบหมายให้ นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบคลังหลักสูตรการศึกษาอาชีพออนไลน์และการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเว็บไซต์กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา โดยมีนายกษิพัฒ ภูลังกา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาสื่อการเรียนการสอน นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้เข้าร่วมประชุมให้การต้อนรับ
นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล ผู้เชี่ยวเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร ได้กล่าวถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบฯ ของกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา (กพ.) ตอนหนึ่งว่า “การประชุมระดมสมองเพื่อพัฒนาระบบการจัดการหลักสูตรการศึกษาอาชีพออนไลน์และพัฒนาเว็บไซต์ในการเป็นสื่อกลางการจัดการศึกษาในครั้งนี้ นับว่ามีส่วนสำคัญในการตอบโจทย์ความต้องการในการจัดการความรู้ได้เป็นอย่างดี เพราะการกำหนด Agenda ให้ชัดเจน เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนในเรื่องต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของงาน จะสามารถนำไปสู่การยกระดับการทำงานของ กศน.ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้”
พร้อมทั้งแนะนำแนวคิด SPEED Model ซึ่งเป็นหลักคิดในการออกแบบการดำเนินงาน ได้แก่
S – Smart คณะทำงานหรือบุคคลเกิดความรอบรู้ เรียนรู้
P – Progressive มีความกล้าที่จะเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น
E – Efficacy เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนในอนาคต
E – Exclusive การทำให้เกิดความแตกต่างและโดดเด่น
D – Digitalization เกิดพลวัตการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาแปลงเข้าสู่ระบบการศึกษาในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ (Outcome) ในด้าน Speed up to the new normal ทำให้เกิดการสร้างแบรนด์เทคโนโลยีในการเรียนการสอน เกิดในระยะยาว มีความเข้มแข็งในอนาคต ทำอย่างไรให้องค์กรอยู่ได้และยั่งยืน Modernlization มีวิธีการนำเทคโนโลยี/องค์ความรู้ มาหลอมรวมจัดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน และ Digitalization มีแพลตฟอร์มการทำงาน จาก Database ไปสู่ Digital ได้
นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผอ.กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ กลุ่มพัฒน์ฯ มีความตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงาน สถานศึกษาและเครือข่ายเป็นอย่างยิ่ง โดยคำนึงถึงการจัดระบบการเรียนการสอน ที่ใช้เทคโนโลยีการศึกษาและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา
เพื่อให้ครูสามารถบริหารจัดการระบบ และเชื่อมโยงข้อมูล รวมไปถึงการนำสื่อการเรียนรู้ไปสนับสนุนการเรียนการสอนในแต่ละระดับ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การสร้างแพลตฟอร์มการจัดการศึกษาให้ครอบคลุม สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด โดยเฉพาะการพัฒนาคลังหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งที่ใช้ในการจัดการศึกษาในปัจจุบัน ดังนั้น หากการดำเนินงานในครั้งนี้ บรรลุตามวัตถุประสงค์ และมีการนำไปใช้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ระบบดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการและพัฒนางานวิชาการได้อย่างมีคุณภาพ ต่อไป