อว. เผยคนกรุงใส่หน้ากากอนามัยลดลงช่วงวันหยุดยาวและหลังผ่อนคลายมาตรการ
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ผลการติดตามการให้ความร่วมมือใส่หน้ากากอนามัยด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) แบบเรียลไทม์ โดย เอสไอไอที มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบว่าใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากการผ่อนคลายมาตรการประกอบกับช่วงหยุดยาว คนกรุงเทพฯ ใส่หน้ากากอนามัยลดลง 0.93% โดยมีผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากหรือใส่ไม่ถูกต้องรวมกันสูงถึง 2.87%
ถึงแม้ว่าตัวเลขการใส่หน้ากากอนามัยโดยรวมยังสูงอยู่ที่ 97.13% แต่แสดงแนวโน้มว่าประชาชนมีความระมัดระวังน้อยลง โดยเฉพาะช่วงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ที่เป็นเทศกาลตรุษจีน คนออกมาจับจ่ายซื้อของและมีกิจกรรมร่วมกันในวันเที่ยวมากขึ้น ซึ่งอยากขอความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการระบาดให้มากขึ้นหลังเทศกาล
ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ระบบ AiMASK ได้เพิ่มพื้นที่ในการเฝ้าระวังตรวจจับการใส่หน้ากากอนามัย จาก 16 จุดมาเป็น 30 จุด ครอบคลุม 30 เขตทั่วกรุงเทพฯ เมื่อวิเคราะห์ละเอียดในแต่ละพื้นที่ พบว่าเขตยานนาวา มีผู้สัญจรที่ไม่ใส่หน้ากากหรือใส่ไม่ถูกต้องมากถึง 16.76% ถือเป็นอันดับหนึ่ง และมีเขตที่อัตราการไม่ใส่หน้ากากหรือใส่ไม่ถูกต้องสูงกว่า 5% มีมากถึง 6 เขต รวมทั้งเขตดอนเมือง ที่มีอัตราการไม่ใส่หรือใส่ไม่ถูกต้องค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเขตอื่นและเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ภาพโดยรวมแล้วในช่วงนี้เหมือนเดือนที่ผ่านมา โดยช่วงเช้ามีผู้สัญจรที่ใส่หน้ากากอนามัยมากกว่าในช่วงบ่าย ซึ่งแสดงถึงความระมัดระวังน้อยลงในตอนเย็นของแต่ละวัน นอกจากนี้ ในวันอาทิตย์จะมีแนวโน้มอัตราการไม่ใส่หน้ากากหรือใส่หน้ากากอนามัยไม่ถูกต้องสูงสุดในทุกสัปดาห์ และในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่าง 12-14 กุมภาพันธ์ ก็มีอัตราการไม่ใส่หรือใส่ไม่ถูกต้องสูงขึ้นมาก
"หลังจากที่ได้ขยายจำนวนเขตที่ประเมินมากขึ้น ทำให้เราพบว่ามีอีกหลายบริเวณที่ผลการใส่หน้ากากอนามัยยังไม่ดีนัก อยากประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือการสวมใส่หน้าการอนามัยให้มากขึ้น โดยภาพรวมจะเห็นว่ามีผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัยสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังมากขึ้น" ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง หัวหน้าโครงการ AiMASK และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. สรุป
แหล่งข้อมูล: โครงการระบบปัญญาประดิษฐ์ (ระบบเอไอ AiMASK) ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย พัฒนาโดยคณะผู้วิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และโครงการซูเปอร์เอไอเอ็นจิเนียร์
สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)