อธิบดีพช. ตีปี๊บผู้นำการเปลี่ยนแปลงสร้างต้นแบบในการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมจัดประกวดชิงรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติสร้างแรงจูงใจต่อการขับเคลื่อนงาน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น Change for Good สร้างชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมบันทึกเทปทางไกล (VDO conference)โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง กิจกรรมที่ 1 ประชุมสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยมี นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรม ผู้อำนวยการสำนัก/ศูนย์/กอง พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และ เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมประชุม โดยมี กลุ่มเป้าหมาย ผู้นำชุมชน 1,000 ตำบล ๆ ละ 15 คน รวมทั้งสิ้น 15,000 คน ณ ห้องประชุม War Room กรมการพัฒนาชุมชน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างผู้นำชุมชน โดยการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับต่างๆ ให้ผู้นำชุมชนมีความรู้ คู่คุณธรรม สามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเอง เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดประกวดแข่งขัน เสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อเชิดชูเกียรติ สร้างแรงจูงใจต่อการขับเคลื่อนงาน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น Change for Good สร้างชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แก่พี่น้องประชาชน เช่น ตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี ภายใต้โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” รณรงค์ให้ทุกหลังคาเรือนมีการคัดแยกขยะ สร้างความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการขยะเปียก ดูแลรักษาภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน การปลูกผักสวนครัว สร้างคลังอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้น้อมนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนเชิงคุณภาพ ใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติ โดยไม่ได้ทำเป็นการทั่วไป ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปได้ยาก ไม่เหมือนกับทำงานเฉพาะพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ฝังรากลึกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในจิตสำนึกแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามในฐานะที่กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่สามารถทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้มีการประยุกต์การประกวดแข่งขัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำชุมชนให้สามารถบูรณาการงานพัฒนาชุมชน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ และมีความหวังว่า พื้นที่ที่มีผู้นำระดับท้องที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำธรรมชาติ เช่น พระสงฆ์ ผู้ที่มีคนนับถือในชุมชน รวมถึง ผู้นำที่เป็นราชการ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ที่จะร่วมเข้ามาขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน โดยการปฏิบัติผู้นำต้องทำก่อน ให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติตาม ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ในครัวเรือน และพื้นที่ส่วนรวม วัด โรงเรียน ถนนหนทางในหมู่บ้าน ให้เป็นพื้นที่ที่สร้างความสวยงาม และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ได้อย่างเป็นรูปธรรม และได้รับคำนิยมชมชอบจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก สำหรับ กิจกรรมครั้งนี้จะทำให้ 1 หมู่บ้าน สามารถดูแลได้ทั้งตำบล สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นผู้นำทางความคิด ตามแนวทางของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสอดคล้องกับเป้าหมายที่ยั่งยืนของ UN (องค์การสหประชาชาติ) เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์พระราชทานให้พี่น้องประชาชน ซึ่งกระตุ้นให้ผู้นำภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพัฒนาการจังหวัดและพัฒนาการอำเภอ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาเป็นทัพหน้า หัวหมู่ทะลวงฟัน ใช้กุศโลบาย เพื่อเป็นการกระตุ้นเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ได้เชื่อมั่น และขับเคลื่อนงานดังกล่าว ผ่านกิจกรรมการประกวดผลการดำเนินงาน ระดับตำบลที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ผ่านกระบวนการของผู้ตรวจราชการกรม (เขตตรวจราชการ 18 เขตตรวจ) จะได้รับการจัดสรรงบประมาณ 100,000 บาท อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าววว่า กิจกรรมครั้งนี้ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดกระตุ้นการดำเนินงานสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่พี่น้องประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืนโลก (SEP to SDGs) และมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การมุ่งพัฒนา สร้างความสมดุลในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน เราต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ศึกษาอย่างถ่องแท้และน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นกระบวนทัศน์ในการทำงาน อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาขยายต่อยอดสู่กิจกรรมตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ผู้นำในท้องที่ รวมถึงนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และนักการตลาด ต้องทำก่อน สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักสวนครัว ให้เต็มพื้นที่ นำไปสู่ 1 หมู่บ้านสามารถดูแลได้ 1 ตำบล 1 ตำบลดูแลได้ 1 อำเภอ เป็นแหล่งของอาหารได้อย่างยั่งยืน ตามรูปแบบ โก่งธนู โมเดล นอกจากนั้น จะมีการบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่าย ท้องถิ่น ปกครอง อสม. กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี OTOP มาช่วยในการขับเคลื่อน โดยยึดหลักการพัฒนา บวร (บ้าน วัด ราชการ) บรม (บ้าน ราชการ มัสยิด) ครบ (คริสต์ ราชการ บ้าน) เพื่อผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เช่นเดียวกับ ความร่วมมือกับ บริษัท อีสท์ เวลท์ ซีด จำกัด (เมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง) ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผัก จำนวน100,000 ซอง เพื่อร่วมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ “90 วัน ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร แก่พี่น้องประชาชน ด้านนายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนาผู้นำ โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำชุมชนให้สามารถบูรณาการงานพัฒนาชุมชน 2) เพื่อใช้พลังชุมชนในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาผู้นำชุมชน 1,000 ตำบลๆ ละ 15 คน รวมทั้งสิ้น 15,000 คน เป็นกลไกในการสร้างพลังและแบ่งปันในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ประกอบด้วย กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนองค์กรท้องถิ่น ผู้นำอช/อช อถล. ครัวเรือนต้นแบบ โคก หนอง นา องค์กรสตรี/ศอช.ต. ผู้แทนจากเครือข่ายกองทุนชุมชน ร่วมเป็นเครือข่าย สำหรับ กิจกรรมประกอบด้วย กิจกรรมที่1 กรมการพัฒนาชุมชน ประชุมสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง กิจกรรมที่ 2 จังหวัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง Kick off จานวน 878 อำเภอ ๆ ละ 1 ตำบล จำนวน 3 วัน กิจกรรมที่ 3 กระบวนการพัฒนาการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร กิจกรรมที่ 4 ติดตามและประเมินผล ภายใต้กิจกรรม "วาไรตี้ผู้นำ" เพราะคุณทำเราจึงตามไปดู กิจกรรมที่ 5 ผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเด่นเป็นการประกวดผลการดำเนินงาน ระดับตำบล คัดเลือกตำบลที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ผ่านกระบวนการของผู้ตรวจราชการกรม (เขตตราจราชการ 18 เขตตรวจ) จะได้รับการจัดสรรงบประมาณ 100,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาตำบล กิจกรรมที่ 6 เวทีสรุปผลการดำเนินงาน และการประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเลิศจะได้รับงบประมาณ 1,000,000 บาท และการมอบโล่เชิดชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลง กิจกรรมที่ 7 ถอดบทเรียนความสำเร็จ และการถอดบทเรียนจากตำบลที่ได้รับรางวัลระดับดีเลิศ ที่มีความเข้มแข็ง มีผลการดำเนินงานดีเลิศ