พระราชบัญญัตยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถนํากัญชา และพืชกระท่อม ไปทําการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการ แพทย์ และสามารถนําไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้
จนถึงขณะนี้ ประเด็นกัญชาก็ยังเป็นทั้งความหวัง คำถาม และความท้าทายของสังคมไทย และมักนำไปสู่ ข้อถกเถียงใหม่ๆ อยู่บ่อยครั้ง เมื่อหยิบประเด็นแวดล้อมเกี่ยวกับกัญชาขึ้นมาพูดคุย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ย่อมนํามาซึ่งประโยชน์ และผลกระทบทั้ง ด้านบวกและลบ ขึ้นกับการกําหนดรายละเอียดของมาตรการในทางปฏิบัติ ซึ่งองค์กรภาครัฐในฐานะผู้กําหนด และปฏิบัติตามกฎหมายจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
รายงาน วิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพและเศรษฐศาสตร์ของกัญชา ทางการแพทย์ในประเทศไทย โดย ดร.ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ สํานักงานพัฒนานโยบาย สุขภาพระหว่างประเทศ และทีมนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ มูลนิธิ สาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยการสนับสนุนของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า กัญชา เป็นพืชที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรค ที่มีการใช้ในรูปแบบยาสมุนไพร และยาพื้นบ้าน โดยมีรายงานการใช้ ประโยชน์ของกัญชาในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และในหลายพื้นที่ทั่วโลก ก่อนที่จะมีการ ออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้เนื่องจาก ตระหนักถึงผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะผลด้านการเสพติดและ ผลกระทบทางสาธารณสุขที่เกิดจากการใช้ กัญชา
ข้อตกลงจาก the Single Convention of the United Nations ในปี 1961 จัดกัญชาทั้งในรูปแบบของ สมุนไพร เรซิ่น และสารสกัดอยู่ในกลุ่มยาเสพย์ติดให้โทษประเภท 1 และประเภท 4 ในช่วงหลายทศวรรษ ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการอนุญาตใช้กัญชา อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอุรุกวัย ยังพบมี การอนุญาตใช้กัญชาทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นในทวีปยุโรปและโอเชียเนีย และมีการเริ่มอนุญาตใช้ในทวีป เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ โดยการนำเข้ากัญชาจากแคนาดา และเนเธอแลนด์
จากการที่กัญชาจัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติดเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อการศึกษาวิจัยทั้งทาง คลินิกเพื่อ พิสูจน์ฤทธิ์ทางการรักษาของสารสําคัญ อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้กัญชาใน การรักษา และผลกระทบทางด้านทางด้านสาธารณสุข ที่เกิดจากการออกกฎหมายอนุญาตใช้กัญชา
ปัจจัยสะท้อนระดับความเสรีของการอนุญาตใช้กัญชามีหลากหลาย เช่น การอนุญาตให้ใช้กัญชาใน รูปแบบยาแผนโบราณ โดยในหลายประเทศทั่วโลกมีการใช้กัญชาในรูปแบบสมุนไพรเป็นยาพื้นบ้าน เช่นเดียว กับประเทศไทยมาต้ังแต่ในอดีต
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับนโยบายอนุญาตใช้ทางการแพทย์ในรูปแบบยา เตรียมที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งรูปแบบผลิตภัณฑ์ได้เป็น 3 รูปแบบ คือ การใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา โดยตรง เช่น การใช้กัญชาในรูปแบบสมุนไพร การใช้สารสกัดกัญชา ซึ่งรวมถึงการสกัดกัญชาในทุกรูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นการสกัดกัญชาโดยใช้สารระเหยเพื่อผลิตน้ำมันกัญชา และ การใช้สารสังเคราะห์
องค์ประกอบสําคัญ 2 ด้าน ที่จําเป็นต้องใช้ในการ กํากับควบคุมการใช้กฎหมายกัญชาทางการแพทย์ ได้แก่ การกระจายกัญชาทางการแพทย์ และ ระเบียบวิธีในการอนุญาตใช้กัญชาให้กับผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงยาโดยผู้ป่วย
ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการประเมินต้นทุน สําหรับการกํากับควบคุมการใช้กฎหมายกัญชาทาง การแพทย์ที่มีทางเลือกหลากหลาย โดยเฉพาะต้นทุนที่เกิดกับผู้ป่วย ซึ่งการเข้าถึงยาผ่านทางช่องทาง พิเศษ มีแนวโน้มจะเป็นช่องทางที่มีต้นทุนต่อผู้ป่วยสูงที่สุด ใช้เวลาในการเข้าถึงยามากที่สุด และการเตรียมยา ในรูปแบบตํารับยาทางเภสัชกรรมจะส่งผล ให้เกิดต้นทุนต่อผู้ป่วย มากกว่าการเตรียมยาในรูปแบบสมุนไพร
อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านต้นทุนนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาล ที่จะชดเชยให้กับประชาชน และการกําหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมที่มีคุณภาพสูงมาก ย่อมส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นเดียว กัน
อีกหนึ่งประเด็นที่สําคัญที่ต้องพิจารณา คือ ลักษณะของอุตสาหกรรมกัญชาในประเทศ การมี ลักษณะอุตสาหกรรมในรูปแบบที่รวมการผลิตไว้ที่ศูนย์กลาง อาจนําไปสู่การผูกขาดทางการค้า และ ส่งผลต่อราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น เนื่องจากขาดการแข่งขันทางการตลาด ต้นทุนในการบริหาร จัดการและกํากับติดตามการปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายจะตกเป็นของรัฐบาล แต่มีข้อดีคือช่วยลด การรั่วไหลของผลิตภัณฑ์ยากัญชาทางการแพทย์ สู่การใช้ในทางสันทนาการได้ดีที่สุด
ในทางกลับกัน การบริหารจัดการแบบกระจายการจัดการ เช่น การยอมให้มีผู้ผลิตภายในประเทศ แล้วเก็บภาษี จะส่งผลต่อประโยชน์ด้านการ สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาล
แต่สิ่งที่ต้องมองต่อไปก็คือ ความเข้มงวดของการใช้กฎหมายกัญชาทางการแพทย์ ที่ส่งผล กระทบต่อสุขภาพประชากรทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากองค์ประกอบของกฎหมายอนุญาตใช้กัญชาทาง การแพทย์จากการศึกษาในต่างประเทศ มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก อาทิ จํานวนกัญชาที่อนุญาต ให้ครอบครอง การอนุญาตให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยปลูกกัญชาที่บ้าน การลงทะเบียนผู้ป่วยมีทั้งแบบบังคับ และสมัครใจ จํานวนโรคที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ และกฎระเบียบข้อบังคับโดยรัฐบาลเพื่อกํากับ ดูแลหน่วยจ่ายยา และที่จําหน่ายกัญชาทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งการกํากับดูแลนี้ จะส่งผลต่อการเข้าถึงกัญชา ทางการแพทย์ของประชาชน
ปัจจัยด้าน ความเข้มงวดของนโยบาย ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะสะท้อนถึงความเสรีของกฎหมาย ของพื้นที่บังคับใช้ได้ในระดับหนึ่ง และยังส่งผลต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายอนุญาตเฉพาะการใช้ เพื่อการรักษาทางการแพทย์ เข้าสู่การอนุญาตเพื่อใช้ในทางสันทนาการ
รูปแบบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเห็นได้ชัดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายรัฐมีแนวโน้มอนุญาตให้ใช้กัญชา ทางการแพทย์ได้มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดกัญชาทางการแพทย์ในหลายรัฐ มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายหลังปี ค.ศ. 2009 หลังจากการออกข้อตกลงเกี่ยวกับการละเว้นการแทรกแซงของรัฐบาลกลาง เช่นเดียวกับ การเพิ่มความยืดหยุ่นของกฎหมาย โดยอนุญาตให้ใช้ในทางสันทนาการได้
ประเด็นด้านวัตถุประสงค์ของการใช้กัญชา กับแนวโน้มการอนุญาตใช้กัญชาทางการแพทย์ในระยะ หลังยังมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกรณีอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงกัญชาในช่องทางที่หลากหลาย ในกรณีที่การกำกับติดตามการใช้นโยบายหละหลวม จะส่งผลให้เกิดเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนระหว่างการ ใช้กัญชาทางการแพทย์และใช้ทางสันทนาการ ซึ่งรูปแบบการใช้กัญชาในประชากร ทั้ง 2 กลุ่ม ย่อมมีความ แตกต่างกัน ดังนั้นความไม่ชัดเจนในการระบุช่องทางการใช้กัญชาของผู้ป่วยย่อมส่งผลต่อการประเมิน นโยบายอนุญาตใช้กัญชา ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเชิงสำรวจเพื่อประเมินวัตถุประสงค์ในการใช้ กัญชา ก่อนทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ที่เกิดจากนโยบายอนุญาตใช้กัญชาที่เฉพาะเจาะจง
เนื่องจากในบางกรณี กลุ่มประชากรที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อาจมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะส่งผลให้เห็น การเปลี่ยนแปลงของการใช้กัญชาเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับผล กระทบต่อการใช้สารเสพติดอื่นที่เกิดจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ และความสัมพันธ์ระหว่าง สารเสพติดอื่นและกัญชา ควรมีการวางแผนเพื่อจัดทำงานวิจัยด้านคลินิก และการใช้การศึกษาใน รูปแบบ Prospective Cohort มากกว่าการ ประเมินแบบ Panel Study โดยใช้ข้อมูลภาคตัดขวางหลายๆ ปีรวมกัน
นอกจากนี้ การที่ประชากรใช้กัญชาในรูปแบบยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรอยู่แล้ว จะทำให้เกิดความ ท้าทายในการประเมินผลกระทบจากการใช้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ เช่นเดียวกับกรณีที่มีการอนุญาต ให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ก่อนการใช้กัญชาทางสันทนาการ เนื่องจากนโยบายที่เกิดควบคู่ไปกับการใช้ที่มี อยู่ก่อน ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในประชากรกลุ่มควบคุม
การมีฐานข้อมูลเพื่อกำกับติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ ศูนย์จำหน่ายยาจากกัญชาทางการแพทย์ ประวัติการซื้อขายยา ความแรงของผลิตภัณฑ์ และราคาของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้กฎหมาย จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการศึกษาแบบแผนการใช้กัญชาในกลุ่มประชากร ทั้งในด้านการใช้กัญชาโดยตรง และในด้านการเปลี่ยนแปลงใช้กัญชาควบคู่กับสารเสพติดประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ราคาผลิตภัณฑ์ กัญชาลดลง รวมถึงความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมได้ กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญ ในประเทศที่มีการเปิดตลาดกัญชาเสรี เช่น สหรัฐอเมริกา
สําหรับนโยบายกัญชาทางการแพทย์การรวมการจัดการที่่ศูนย์กลาง (Centralized Models) ของ สาธารณรัฐเช็ค หรือในประเทศเนเธอแลนด์ จะมีรูปแบบยืดหยุ่นน้อยกว่าที่รัฐกระจายการบริหาร (Distributed Models) ให้เอกชนสามารถเข้าร่วมจัดการกัญชาได้ เช่น ในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล หรือแคนาดา
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางนโยบายที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้ จําเป็นต้องมีการพิจารณา ให้น้ำหนักเปรียบเทียบความเสี่ยง ต่อช่องทางการรับกัญชาทางการแพทย์ไปใช้ในทางสันทนาการ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา จะเน้นการให้กัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยในรูปแบบที่พร้อมให้ผู้ป่วยเข้าถึง ได้ ทั้งจากการจัดต้ังศูนย์กระจายยา และในรูปแบบที่ผู้ผลิตส่งให้แก่ผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งเป็นการนําเสนอ กัญชาที่สามารถตอบสนองผู้ป่วยได้หลายรูปแบบ
การดําเนินการในรูปแบบดังกล่าว จะมีประเด็นด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ต้อง พิจารณา โดยเฉพาะในประเทศซึ่งมีการกํากับดูแลคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชาทาการแพทย์อย่างหละหลวม และ ช่องทางการกระจายยาดังกล่าว อาจส่งผลต่อการรั่วไหลของผลิตภัณฑ์ยากัญชาไปสู่ผู้ใช้ในทางสันทนาการได้
“กัญชาทางการแพทย์” จําเป็นต้องรักษาความยืดหยุ่นให้สมดุล ระหว่างการเข้าถึงกัญชาเพื่อใช้ ในการรักษาโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีสิทธิได้รับยาตามที่กฎหมายระบุไว้ ซึ่งหมายถึงผลได้ของการอนุญาตใช้ กฎหมายกัญชา และการใช้ยากัญชาทางการแพทย์ในกลุ่มผู้ป่วยที่นอกเหนือกไปจากกลุ่มโรค ที่ได้รับอนุญาต รวมถึงการรั่วไหลของยากัญชาที่ไปสู่การใช้ทางสันทนาการ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและ สาธารณสุข ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับการกําหนดมาตรการ การควบคุมกํากับ และระบบข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวัง และติดตาม เพื่อให้มั่นใจได้ว่านโยบายดังกล่าวจะทําให้สังคมไทยได้ประโยชน์สูงสุด และเกิดผลกระทบเชิงลบ น้อยที่สุดนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาโดยรวมชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดกัญชาทางการแพทย์ใน อนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าจํานวนผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์รับยากัญชาทาง การแพทย์ในการรักษาโรคจาก 4 กลุ่มโรค ที่ได้รับอนุมัติเมื่อต้นปี 2562 เป็ยผู้ป่วยใน (IPD) โรคมะเร็งเกือบ ร้อยละ 80
เมื่อพิจารณาด้านเศรษฐศาสตร์โดยการใช้แบบจำลองในมุมมองของสังคม เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนและ ผลลัพธ์ในรูปของตัวเงินของการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เฉพาะข้อบ่งใช้ที่ได้รับการอนุมัติโดย กำหนดให้ 1 ปีสุขภาวะ (QALYs) เท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร พบว่า การใช้กัญชาเพื่อรักษา ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดของผู้ป่วยมะเร็ง เป็นข้อบ่งใช้เดียวที่มีความคุ้มค่า เนื่องจาก ต้นทุนของน้ำมันกัญชาทางการแพทย์มีราคาสูง ส่วนการใช้กัญชาในผู้ป่วยกลุ่มโรคที่ไม่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ ก็จะมีต้นทุนในการรักษา โรคแทรกซ้อนสูง เนื่องจากผู้ป่วยบางส่วนจะมีการใช้กัญชาทดแทนยาแผนปัจจุบัน เมื่อผู้ป่วยหยุด การใช้ยาแผนปัจจุบัน ในขณะที่ผลของกัญชายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน จึงทำให้โรคของผู้ป่วยมี โอกาสเป็นมากขึ้นและเกิดโรคแทรกซ้อนได้
นอกจากนี้ อาจมีผู้ที่ใช้กัญชาในกรณีอื่นที่ยังไม่ได้รับอนุญาต เช่น การใช้เพื่อสันทนาการ ซึ่งกรณีนี้จะ เกิดผลกระทบด้านลบต่อทั้งตัวผู้ใช้กัญชา แะละบุคคลอื่นในสังคมได้
อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ยังมีการดำเนินงานในส่วนของแพทย์ แผนไทยด้วย ซึ่งการศึกษานี้ยังไม่ได้นำมารวมไว้ รวมทั้งยังไม่ได้ศึกษาสถานการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์ กัญชาจากแหล่งใต้ดิน ที่อาจมีราคาที่สูงกว่าราคามาตรฐาน และไม่ได้รวมถึงรายได้ของชุมชน หากมี การเปิดเสรีให้เกษตรกรสามารถ ปลูกและขายพืชกัญชา รวมถึงการส่งออก
เพื่อเป็นการประเมินผลกระทบของนโยบายกัญชาทางการแพทย์ให้ครอบคลุม จึงควรมีการ ขยายการศึกษา เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานของนโยบายในทุกภาคส่วน ก่อนนำผลมาใช้ในการ ตัดสินใจต่อไป.


