อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมผู้บริหาร ให้การต้อนรับรองนายกฯ นำชมผลงานวิจัยพร้อมเสนอผลการดำเนินงาน และบทบาทในการพัฒนาเมืองสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมคณะผู้บริหาร ไให้การต้อนรับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และเขตตรวจราชการที่ 12 (จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น รายงานผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และบทบาทในการพัฒนาเมืองสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผลงานด้านวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงสังคมและเชิงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ตลอดจนการส่งเสริมวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆทั้งยังตระหนักถึงการพัฒนาและการมีส่วนร่วมกับพื้นที่ในด้านการนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชน สังคม โดยมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการร่วมกับจังหวัดขอนแก่น และเครือข่าย อย่างต่อเนื่องในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่ และเป็นSmart City อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ได้นำเสนอนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 10 นิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการโครงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี,นิทรรศการโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง,นิทรรศการโครงการแก้จน,โครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม KKU SMART LEARNING ACADEMY,นิทรรศการ Smart farm,นิทรรศการ Smart city,นิทรรศการอุทยานวิทยาศาสตร์,นิทรรศการนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร,นิทรรศการนวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์,นิทรรศการผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นและ นิทรรศการด้าน BCG (แบตเตอรี่ ไฮเทน และไบโอพลาสติก)
ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์กลางวิทยาการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การได้มารับรู้ข้อมูลผลงานวิจัยต่างๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ รู้สึกถึงความกระตือรือล้นของคณาจารย์ นักศึกษาในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะโครงการ Startup ใหม่ๆซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจและรัฐบาลต้องการสนับสนุน ที่สำคัญคือแหล่งเงินทุนเพราะทราบว่า Startup ล้วนต้องใช้งบประมาณ การได้มาเห็นผลงานและในฐานะที่ดูแลอุดมศึกษาก็จะได้นำเรื่องไปหาช่องทางในการสนับสนุน ซึ่งงานวิจัยที่ได้เห็นล้วนมีทิศทางที่น่าสนใจและควรที่จะได้ดำเนินการไปต่อให้ถึงที่สุด