วันที่ 24 ก.ย. 2563 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยืน องค์การมหาชน (อพท.) จัดประชุมเสวนาผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ด้านการท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม และเมืองสร้างสรรค์ “Sukhothai 2020 Roundtable on Tourism, Heritage and Creative City สุโขทัย ถอดรหัสโต๊ะกลม การท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม และเมืองสร้างสรรค์” ตั้งแต่วันที่ 21-23 ก.ย. 2563 โดยมีการจัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "อนาคตของเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์สุโขทัยที่น่าจะเป็น" โดยมี นายพิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการสำนักบริหาร และพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, น.ส.ปรมา ทิพย์ธนทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคตบารามีซี่แล็บ, ผศ.ดร.วิติยา ปิตตังนาโพธิ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และน.ส.เนืองนิตย์ ชัยภูมิ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย เข้าร่วมเสวนา โดย น.ส.เนืองนิตย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากที่สุโขทัยได้รับการประกาศเป็นหนึ่งในเครือข่ายโครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์กรยูเนสโก (UCCN) เมื่อปี 2562 เรารู้เลยว่าต้องเต็มที่กับเรื่องนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือชุมชน ประชาชน ผู้ที่ทำหัตถกรรมทุกคนดีใจ จากวันนั้นถึงวันนี้ ทุกคนยังฮึกเหิม ไฟยังติดเป็นประกาย ส่วนที่เปลี่ยนแปลงคือจากที่เราเป็นเมืองเงียบ ๆ เริ่มมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามา เสนอโครงการเมืองสร้างสรรค์ เพื่อของบประมาณ ซึ่งเราได้กรอกเอกสารเข้าร่วมไปเยอะมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ภาคเอกชนมีการเวิร์คฟอร์มโฮม แต่หน่วยงานในพื้นที่ของเราไม่ได้มีคำสั่งนั้นจึงปรึกษากัน เนื่องจากการเป็นเมืองสร้างสรรค์ เราต้องทำรายงานต่อยูเนสโก จึงมีการตั้งคณะทำงาน 14 คณะ มีการทำสื่อลงช่องยูทูป เพื่อให้กำลังใจคนในพื้นที่ โดยจากการสัมภาษณ์ เราแปลกใจมาก เนื่องจากทุกคนบอกว่าที่ผ่านมา ก่อนโควิด-19 ผลิตงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีสต็อกของ แต่ช่วงโควิด-19 เขาได้เริ่มมาคิดว่าเขาควรสร้างสรรค์งานอะไร เพื่อสร้างงานใหม่ให้สมความเป็นสุโขทัย รวมถึงทำเพื่อสต็อกของ สร้างงานให้มีคุณค่า ส่วนเรื่องผลกระทบคนในพื้นที่เองเขาก็บอกว่าไม่ได้เดือดร้อนมาก มีผักที่สามารถหากินในบ้านได้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เราคิดว่าบางทีเราไม่ต้องใช้ทฤษฎีอะไรมากมาย สะท้อนให้เห็นว่าการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เป็นสิ่งดี เพราะคนทำงานหัตถกรรม เขาคิดว่างานที่ทำมีคุณค่า มีการยอมรับ มีตัวตน ถ้าเขานำสิ่งที่ผลิตด้วยใจส่งต่อ มีรายได้ให้ลูกและครอบครัว มีการศึกษาที่ดี มีงานทำที่บ้าน ลูกหลานกลับมาบ้าน ซึ่งส่วนนี้จะตอบสังคมผู้สูงอายุ มีลูกหลานคอยดูแลที่บ้าน อย่างไรก็ตาม สุโขทัยมีแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560 มีการเขียนนโยบายก่อนหน้าที่เราจะยื่นเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ เรามีทุนทางวัฒนธรรม ความเป็นมรดกโลก การมีชีวิตชุมชนที่อาศัยร่วมกัน รวมถึงภาคประชาชนที่แข็งแรง ขณะที่ นายพิชิต กล่าวว่า การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การสร้าง และทำให้เห็นโอกาสในพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ จ.สุโขทัย คือ มีต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว การที่จะขับเคลื่อนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์จะต้องมีพื้นที่ไปพัฒนาต่อ ทั้งนี้จะต้องสร้างการรับรู้ให้มั่นใจในการเข้ามาพัฒนา และการขับเคลื่อนจากคนในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจริง อย่างไรก็ตาม การที่ทำแบรนด์ให้เกิดขึ้นมาเป็นจุดขาย และจะทำอย่างไรให้มีการขยายผล เราเริ่มทำงานกับหลายหน่วยงานเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ เราจึงเห็นว่าจ.สุโขทัยจะกลายเป็นแม่บทในการขับเคลื่อนไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ซึ่งความพร้อมของจ.สุโขทัย มีหลายอย่าง อาทิ วัฒนธรรม โบราณสถาน คนในชุมชน อาหาร เป็นต้น "คำถามคือสุโขทัยจะไปทางไหน จริงๆ สุโขทัยเป็นมรดกโลก สิ่งที่สุโขทัยจะเป็นอย่างไร อยู่ที่โครงการที่จะเข้ามามีบทบาท ว่าสุโขทัยจะไปในทิศทางไหน เราจะทำอย่างไรก็ได้ที่จะสร้างมูลค่าให้พื้นที่ ผมเป็นคนกรุงเทพมหานคร แต่เห็นว่าก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยอร่อยมาก ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยโดดเด่น ทั้งนี้ เชื่อว่าคนที่จะเข้ามาสานต่อคือเยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ แต่เราจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อนมีอาชีพที่มั่นคง และยั่งยืน" นายพิชิต กล่าว ด้านน.ส.ปรมา กล่าวว่า การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่เสริมรายได้ให้ชุมชน แต่ช่วยเรื่องอนุรักษ์ รวมถึงดึงคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ที่ผ่านมาเรามีการทำวิจัย พบว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวอยู่แล้วนั้น จุดเด่น คือเรื่องราวความเป็นรากเหง้าประเทศไทยอย่างแท้จริง แต่ที่น่าสนใจนอกเหนือจากท่องเที่ยวในเรื่องดังกล่าว ยังมีเรื่องทัศนียภาพ ธรรมชาติ เติมเต็มจิตวิญญาณเขาด้วย บางคนบอกว่าสุโขทัยไม่ใช่มาเพื่อเห็น เพื่อดู แต่มาเพื่อสัมผัส ที่นี่มีมุมมองความเป็นพื้นถิ่น มีกิจกรรมต่าง ๆ นี่คือสิ่งที่สะท้อนจากนักท่องเที่ยว บางส่วนมาแสวงหาเสน่ห์ที่ซ่อนเร้น ของสุโขทัย ขณะที่บางกลุ่มมาดื่มด่ำ มาลงลึกเรื่องประวัติศาสตร์ หรือบางส่วนมาเพื่อทำกิจกรรม สร้างสรรค์ประสบการณ์ด้วยตนเอง แบะกลุ่มสุดท้าย มาเพื่ออิ่มเอมบรรยากาศสถานที่ที่สุโขทัย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ตนเคยจัดทริปเราได้พบความเป็นเนื้อแท้ของคนสุโขทัย มีความเป็นปราชญ์ที่มีเสน่ห์ มีการจัดไกด์ชั้นเลิศ ซึ่งในเดือนหน้านักท่องเที่ยวกลุ่มที่ตนเคยพามา จะจีดทริปมาเยือนสุโขทัยอีกครั้ง นั่นหมายความว่าเรามีของดีจนคนบอกต่อ อยากมาซ้ำ น.ส.ปรมา กล่าวว่า การที่สุโขทัย ได้รับการประกาศเป็นหนึ่งในเครือข่ายโครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์กรยูเนสโกนั้น ทำให้สุโขทัยอยู่บนชั้นวางของที่ถูกมองว่าเก่งในเเรื่องนี้ ทำให้คนอยากมาสุโขทัยมากขึ้น นอกจากนี้เรามีการทำวิจัยร่วมกับอพท. ผลวิจัยพบว่าสามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายจะเลือกมาท่องเที่ยวสุโขทัยได้ 6 กลุ่ม ดังนี้ 1.เฉพาะกลุ่ม เป็นกลุ่มที่ต้องการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง อยากได้ศาสตร์ และศิลป์ในพื้นที่เพื่อนำไปต่อยอดสิ่งใหม่ 2.กลุ่มที่อยากท่องเที่ยวเพื่อแลกเปลี่ยนฝังตัวแบบยาว ๆ คลุกคลีกับคนท้องถิ่น เห็นวัฒนธรรม เรียนรู้ชีวิตไปต่อยอดบางสิ่ง 3.กลุ่มที่หวนลำลึกถึงอดีต เพื่อลำลึกสมัยเด็ก ๆ 4.กลุ่มที่เรียนรู้ทักษะ เข้าใจกระบวนการเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน 5.กลุ่มที่เสพเรื่อวราว เรื่องเล่า และ 6.เน้นสนุก เพื่อทำกิจกรรมสนุกสนานในชุมชน อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เหมาะกับสุโขทัย คือ นักท่องเที่ยวที่มาเสพเรื่อวราว แต่ปัญหาคือการเข้าถึงไกด์ หรือปราชญ์ที่รู้เรื่องในพื้นที่จริง ๆ ซึ่งหากแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะช่วยในเรื่องการท่องเที่ยวนี้ได้ "ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า หากเปรียบสุโขทัยกับแบรนด์ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.สินค้า 2.บริการ 3.การสร้างบรรยากาศพื้นที่ และ 4.การสื่อสารแบรนด์ เราต้องทำ 4 เรื่องนี้ให้ลูกค้าเห็น เพื่อให้เขาอยากมา มาซ้ำ และบอกต่อ สิ่งที่สุโขทัยยังขาด คือ 1.การสื่อสารให้คนรู้จัก แผนงานสื่อสารประจำปี 2.เรื่องคนเล่าเรื่อง ต้องสร้างปราชญ์เพิ่ม ปราชญ์รุ่นเยาว์ คนที่เล่าเรื่องเก่ง ต้องมีเนื้อแท้ นอกจากนี้ เรื่องคน คือของหรู เป็นการลงทุนที่คุ้ม เราทำคนให้เจ๋ง มีระบบในการสร้าง นำคนเข้ามาทดแทน เราจะประสบความสำเร็จแน่นอน ส่วนเรื่องเทคโนโลยีควรนำไปเสริมด้านการสื่อสาร เนื่องจากยังอ่อนเรื่องนี้จริง ๆ " น.ส.ปรมา กล่าว ส่วน ผศ.ดร.วิติยา กล่าวว่า การเข้าสู่เมืองสร้างสรรค์ และพัฒนาสุโขทัยให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ เราพยายามศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะมันมีเสน่ห์อยู่แล้ว ซึ่งการวางแผนยุทธศาสตร์จึงจำเป็นต้องเชื่อโยงกันกับเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม สุโขทัย มีความสำคัญอยู่แล้ว เช่น ลอยกระทงของสุโขทัยติดอันดับ 1 ใน 5 เทศกาลระดับโลก แค่เชื่อมโยงกับพันธกิจเท่านั้น ทั้งนี้ UCCN ทุกคนทำอยู่แล้ว ซึ่งแผนปฏิบัติการพัฒนาการสร้างสรรค์สุโขทัยด้านหัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน ตั้งเป้าเวลาอีก 5 ปี ตั้งแต่ ปี 2564-2568 เพื่อพัฒนายกระดับขีดความสามารถ และบทบาทเมืองสุโขทัยในการเป็นศูนย์กลางพัฒนาด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านระดับโลก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาทักษะ พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน สำหรับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UCCN "สำหรับยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาสุโขทัย ให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UCCN จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม และยั่งยืน เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม นอกจากนี้ยังลดความไม่เสมอภาคในประเทศ และระหว่างประเทศ ทำให้เมือง และการตั้งถิ่นฐานของคนในชุมชนมีความปลอดภัย มีภูมิต้านทานพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ผศ.ดร.วิติยา กล่าว ด้าน ดร.ประครอง สายจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 กล่าวปิดการประชุมเสวนาตอนหนึ่งว่า งานเสวนาแบบนี้น่าจะมีปีละครั้ง สิ่งที่ทุกคนได้ฟังได้นำเสนอ แลกเปลี่ยนในช่วง 2-3 วัน เราได้เห็นการบริหารจัดการมรดกโลก และเมืองสร้างสรรค์ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เราโชคดีที่งานอย่างนี้มาจัดที่บ้านเรา ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก และเมืองสร้างสรรค์ มันจึงไปด้วยกันและเราได้บทเรียนว่าที่พูดมา เราเป็นอย่างนั้นหรือไม่ หรือยังไม่เป็น ซึ่งเราได้เปรียบ เพราะเป็น 3 เรื่องที่อยู่ในยูเนสโกที่อยู่ที่เมืองไทย หวังว่าสิ่งที่ได้ฟัง 3 วัน ที่จะทำต่อคิดต่อ มันจะดีหรือไม่ดีก็ต้องรับผลที่ตามมา เมื่อย้อนกลับไป 5-10 ปี คนที่มาเที่ยวสุโขทัยแค่หลัก 500,000 คน แต่ปัจจุบันมีจำนวนล้านกว่าคย และยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวสุโขทัยอีกมาก ในมุมมองของตนเห็นว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาสุโขทัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงเท่านั้น นี่คือสิ่งที่สุโขทัยเป็นอยู่ ซึ่งสุโขทัยเป็นเมืองที่เลือกคนมาเที่ยว และเลือกคนมาทำงาน เพราะสุโขทัยชัดเจนว่าเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ใครก็แล้วแต่หรือโปรเจ็คที่มานำเสนอที่แปลก นอกจากวิถีปกติของสุโขทัยมักไม่สำเร็จ อะไรที่เป็นวิถีผิดปกติ "สุโขทัยชินกับการเป็นเมืองมรดกโลก แล้วชินกับเอกสารความทรงจำแห่งโลก แต่พอได้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ทุกคนอาจจะเห็นว่ามันผิดไปจากสุโขทัย แต่ผมไม่กลัว เพราะเราจะเดินไปช้าๆ ค่อยๆ เดิน ถึงแม้ว่าเส้นทางจราจรของเราจะไม่สะดวกแก่นักท่องเที่ยว แต่ผมเห็นว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีจะเข้ามามีบริการขนส่งที่ดีขึ้น สุโขทัยเป็นเมืองที่ไม่เหมือนเมืองใดในประเทศไทย เพราะเราจะเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของสุโขทัย และร่วมกันทำหากบอกว่าไม่ทำสุโขทัยก็จะไม่ทำเราเดินไปด้วยกันและจะไม่ทิ้งใครไว้ หากจะทำเราก็จะทำด้วยกันนั่นคือความเป็นสุโขทัย เพราะฉะนั้นในอนาคตผมคิดว่าคนสุโขทัยกำหนดแล้วว่ามันจะเป็นแบบนี้ เราเป็นเมืองแบบนี้ เมืองประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เราเป็นรุ่งอรุณที่มีความสุขเราก็มีความสุขของเราไป" ดร.ประครอง กล่าวทิ้งท้าย