เริ่มแล้ว! "สุโขทัย" ถอดรหัสโต๊ะกลม ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านท่องเที่ยว-วัฒนธรรม ร่วมหาคำตอบสุโขทัยที่น่าจะเป็น-เมืองมรดกโลกและเมืองสร้างสรรค์ อย่างไรที่ยั่งยืน ด้าน "รมว.ท่องเที่ยวฯ" เตรียมกระตุ้นท่องเที่ยวให้ชุมชน หลังพิษโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเสวนาผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ด้านการท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม และเมืองสร้างสรรค์ “Sukhothai 2020 Roundtable on Tourism, Heritage and Creative City สุโขทัย ถอดรหัสโต๊ะกลม การท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม และเมืองสร้างสรรค์” ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมสุโขทัยเทรเชอร์ รีสอร์ต แอนด์ สปา จังหวัดสุโขทัย โดยนายพิพัฒน์ กล่าวว่า จังหวัดสุโขทัย ถือเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อย่างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกร่วมกันกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงพชร แต่นอกจากความเป็นเมืองมรดกโลกแล้ว วีถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดสุโขทัยที่คลุกคลีเติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ หัตถกรรม ถือเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน ทั้งการทอผ้าตีนจก การทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น งานไม้ และงานลวดลายเครื่องทองและเครื่องเงินสุโขทัย ซึ่งทุกอย่างล้วนมีอัตลักษณ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นชื่นชอบของนักท่องเที่ยวอย่างมาก อีกทั้ง สุโขทัย ยังได้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ซึ่งเป็นการยกระดับจังหวัดสุโขทัยให้มีชื่อเสียงระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เดินทางมาเยือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในปี 2562 จังหวัดสุโขทัย มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 1,500,000 คน คิดเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยมากถึง 75% ขณะที่ชาวต่างชาติมีเพียง 25% สร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่กว่า 3,900 ล้านบาท ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกถูกปิด รวมถึงการเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยต้องหยุดชะงักไปด้วย แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทางจังหวัดสุโขทัยได้ดำเนินการรูปแบบวิถีใหม่ ตามมาตรฐานข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข และแนวทางความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Safety and Health Administration) หรือ SHA ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม “เชื่อว่าการจัดงานประชุมในครั้งนี้ จะเกิดแนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ซึ่งร่วมถึงชุมชนให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ในอนาคตได้อย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับการท่องเที่ยวในสภาวะปกติใหม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าว ด้าน ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การจัดงานประชุมเสวนาผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและระดับนานาชาติด้านการท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม และเมืองสร้างสรรค์ “Sukhothai 2020 Roundtable on Tourism, Heritage and Creative City สุโขทัย ถอดรหัสโต๊ะกลม การท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม และเมืองสร้างสรรค์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 23 กันยายน 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างความร่วมมือด้านการจัดการแหล่งมรดกโลกและด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดย อพท. ได้ประสานความร่วมมือกับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) และสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (อิโคโมสสากล) ในการกำหนดหัวข้อการเสวนา และระดมผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและระดับนานาชาติในสาขาการท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม และเมืองสร้างสรรค์ รวมมากกว่า 20 ท่าน ที่จะร่วมให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมอง ที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียงที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกันอย่างจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีหัวข้อสำคัญที่จะครอบคลุมการเป็นเมืองมรดกโลกและเมืองสร้างสรรค์ อาทิ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงในภาวะปกติใหม่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว “มุมมอง 30 ปีมรดกโลกสุโขทัยที่ควรจะเป็น” สุโขทัยที่น่าจะเป็นกับการวางผังเมืองเฉพาะเมืองมรดกโลกเพื่อการท่องเที่ยว การขับเคลื่อนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้สู่เมืองสร้างสรรค์ในสุโขทัย และอนาคตของเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์สุโขทัยที่ยั่งยืน เป็นต้น “ด้วยนิยามขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO ระบุว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ “การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงปัจจุบันและอนาคตต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เยี่ยมชม อุตสาหกรรมธุรกิจท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และชุมชนที่เป็นเจ้าของ” ผลลัพธ์จากการจัดการประชุมในครั้งนี้ นอกจากความรู้ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับแล้ว อพท. มีความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าเข็มกลัดบนหน้าอกของชาวสุโขทัยที่มีทั้งเข็มมรดกโลกและเข็มเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์นั้น จะนำประโยชน์มาสู่คนสุโขทัยได้อย่างไรบ้าง และมีวิธีการมุ่งไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร” ดร.ชูวิทย์ กล่าว จากนั้นนายพิพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับมาตรการในการช่วยเหลือคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คงต้องดูหลังจากนี้ เพราะเมื่อได้มาเห็นสภาพของชุมชน ตนในฐานะที่ดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะต้องหารือกับ อพท. กรมการท่องเที่ยว และ ททท. ว่าจะนำผลสำเร็จของการเป็นมรดกโลกของจ.สุโขทัย มาทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งตนจะกลับไปทำการบ้าน หลังจากนั้นจะให้รักษาการผู้อำนวยการ อพท. ชี้แจงและเดินหน้าไปพร้อมกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถึงเทศกาลปีใหม่ ปี 2564 คาดว่าจะเงินสะพัดเข้าในจ.สุโขทัยมากน้อยแค่ไหนนั้น ตนไม่สามารถตอบได้ต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก่อน ซึ่งอาจมีวัคซีนป้องกันโรคได้ "ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการชมเชยในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นลำดับต้น ๆ ต้องดูว่าเราจะทำอย่างไรกับเกียรติยศของการป้องกันโควิด-19 พูดตรงๆ คือเกียรติยศรับประทานไม่ได้ ทำอย่างไรถึงจะแปลงเกียรติยศให้เป็นเงินที่อยู่ในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นายกรัฐมนตรี กำลังดำเนินการ ผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรีทำสำเร็จแน่นอน" นายพิพัฒน์ กล่าว