โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียนสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์อัจฉริยะของไต้หวันเปิดตลาดใหม่ โดยวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้จัดงานจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์เกี่ยวกับสินค้าทางการแพทย์ไต้หวันครั้งที่ 2 ขึ้น ได้เชิญบริษัทอุปกรณ์ทางการแพทย์ไต้หวัน 3 บริษัทได้แก่ บริษัท Huijia Health Life Technology บริษัท Think Cloud และบริษัท LIPS มาแบ่งปันวิธีใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์อัจฉริยะดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร และลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ภายในงานมีบุคลากรสาธารณสุขจากนานาประเทศกว่า 110 ท่านอาทิ ไทย พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินีและมาเลเซีย มาเข้าร่วมฟังและแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก รวมถึงการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กมีผู้ชมกว่าหนึ่งร้อยท่านร่วมเข้าชม
โดยหลังจากดร.หลี่ฉุนจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจจงหัว (CIER) และหลี่เจิ้นอวี่ เลขานุการผู้บริหารสมาคม ICT ระดับเอเชียแปซิฟิค (APICTA) ได้กล่าวเปิดงานแล้ว หยางซูเจิน ประธานกรรมการบริษัทHuijia Health Life Technology ได้กล่าวแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้แก่ ฟูกผู้ป่วยอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดn FOPT ทำให้ผู้ใช้สามารถวัดสัญญาณชีพต่าง ๆ เช่น คลื่นหัวใจ การหายใจได้เพียงแค่นอนอยู่บนฟูกเท่านั้น ทำให้ผู้ดูแลสามารถดูแลผู้ป่วยได้ทันท่วงที
หลี่ไป๋ชง ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัทLIPS ได้กล่าวถึงการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ด้วยปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสามมิติ พร้อมแสดงกล้องวิดีโอที่ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์สามมิติของทางบริษัท และกล่าวบรรยายเกี่ยวกับการควบคุมสถานการณ์ห้องผู้ป่วยได้โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
อันโตนีโอ รองผู้จัดการฝ่ายขายต่างประเทศบริษัท Think Cloud ได้แนะนำระบบเซ็นชื่อดิจิตอลของทางบริษัท พร้อมอธิบายการยกระดับความแม่นยำและความถูกต้องในการเซ็นชื่อ และการใช้ตราประทับออนไลน์ อีกทั้ง ระบบเซ็นชื่อออนไลน์ยังสามารถส่งเสริมการลดการใช้กระดาษ ลดการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่พยาบาลอีกด้วย เป็นผลิตภัณฑ์ที่บรรลุเป้าหมายทั้งในด้านของความปลอดภัย ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม และด้านความสะดวกสบาย
งานจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์ในครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม ผู้เข้าร่วมเกือบ 110 คนสนใจในผลิตภัณฑ์ของทั้งสามบริษัทเป็นอย่างมาก รศ.อภิชัย วรรธนะพิศิษฐ์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้กล่าวว่า ในอนาคตมีสามจุดที่ต้องระวังเมื่อผู้ประกอบการไต้หวันจะขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทไปยังโรงพยาบาลที่ร่วมมือต่างๆได้แก่ ในด้านของผู้ป่วย ผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพสูงและปลอดภัยต่อผู้ป่วย ในด้านการใช้งาน ต้องช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ดูแลพยาบาลผู้ป่วย ราคาผลิตภัณฑ์ต้องสมเหตุสมผล นอกจากนี้ในด้านงานวิชาการ ผลิตภัณฑ์จะต้องเหมาะสมกับการสอนและการวิจัย รวมถึงต้องระวังเรื่องกฎหมายสาธารณสุขไทย และบริการหลังการขายด้วย
ดร.ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนกล่าวว่า ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มความน่าสนใจในผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการจัดนิทรรศการ หรือมาจัดแสดงที่โรงพยาบาล พร้อมกับมีบริการหลังการขายที่ครบวงจร ก็จะช่วยทำให้โรงพยาบาลที่สนใจสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และเพิ่มโอกาสในการซื้อได้ ดูคลิปวิดีโอฉบับเต็ม: https://youtu.be/BkyM-fwHlbo