"กสศ.-บ.ดิสรัปท์ฯ"ประกาศผลรางวัล “Education Disruption Hackathon 2” นวัตกรรมปฏิวัติการศึกษา เฟ้นโปรเจกต์ “ประเด็นคมชัด-เข้าใจปัญหาการศึกษา-หาจุดแข็งสร้างเครื่องมือขจัดปัญหา” ชู 30 ทีมเข้ารอบสุดท้าย คือ ผู้ชนะ เปี่ยมความมุ่งมั่น ต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย กสศ.พร้อมหนุนหารูปแบบทำงานร่วมกัน ชวนทุกภาคส่วนแสดงพลังร่วมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ บริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จำกัด ประกาศผลการแข่งขัน “Education Disruption Hackathon 2” ภายใต้โครงการ StormBreaker Accelerator เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศ เข้าแข่งขันเสนอความคิดในการพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีทีมผู้ที่สมัครผ่านคุณสมบัติเข้าสู่รอบ Final Pitching นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 30 ทีม แบ่งเป็น 2 แทร็ก ได้แก่ Social Impact Track เน้นความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างผลกระทบ (Impact) เพื่อช่วยแก้ปัญหาการศึกษาได้จริงในวงกว้าง มุ่งเน้นกลุ่มคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา จำนวน 20 ทีม และ Scalable EdTech Track สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากทำ EdTech Startup ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยี จำนวน 10 ทีม โดยทั้ง 30 ทีมผ่านการคัดเลือกรอบแรกจาก 147 ทีม เข้ารับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และ Startup อย่างเข้มข้นเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.ก่อนการนำเสนอในรอบ Final Pitching ในวันที่ 30 พ.ค. ​ ผลการแข่งขันในกลุ่ม Social Impact Track ทีมที่ได้รับรางวัล Most Impactful Award ได้แก่ Love to Read ทีมที่จะมาสร้างชุมชนให้รักการอ่านเพื่อเด็กอายุ 0-3 ปี Most Empathetic Award ได้แก่ Life Education แพลตฟอร์ม “เปิดใจ” ที่จะมาช่วยให้ครูและครอบครัวเข้าถึงหัวใจวัยรุ่น เห็นคุณค่าด้านอื่น ๆ ในตัวเยาวชนนอกจากผลการเรียน เพื่อปิดประตูความเสี่ยงการก้าวพลาดของเยาวชน Equality Award ได้แก่ Edverest ทีมที่จะมาเปิดแพลตฟอร์มเชื่อมโอกาสการเข้าถึงทุนการศึกษาได้โดยง่ายและตรงกับความต้องการของผู้เรียน EEF Special Award ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษ ขวัญใจ กสศ. ได้แก่ Edudee โครงการอาสาสมัครสอนเยาวชนนอกระบบการศึกษาในที่อาศัยอยู่ในไซต์ก่อสร้าง และ Dynamic School โครงการพัฒนาครูในโรงเรียนชนบทห่างไกล เพื่อสร้างโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด และรางวัล Judges Special Award ได้แก่ ทีม Abi by BASE Playhouse แพลตฟอร์มที่จะช่วยให้เยาวชนและคุณครูอาชีวศึกษาประเมินทักษะ soft skills ที่จำเป็นได้ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจตนเองและพัฒนาได้ตรงจุด และได้รับการรับรองที่ช่วยเปิดโอกาสในการทำงานให้กับพวกเขา และ ทีมวิชานอกเส้น ที่มีไอเดียสร้างพื้นที่แสดงศักยภาพให้กับเยาวชนที่มีความสามารถนอกเหนือจากความรู้ทางด้านวิชาการ แต่ยังขาดโอกาสในการแบ่งปันและต่อยอด ​กลุ่ม Scalable Edtech Track ทีมที่ได้รับรางวัล Most Innovative Award ได้แก่ ทีม Kid Space แพลตฟอร์ม และเครื่องมือ IoT (Internet of Things) ที่จะรวบรวมเกมสนุก ๆ ให้ผู้ปกครองและเด็กได้สัมผัสประสบการณ์เรียนและเล่นไปพร้อมกัน รางวัล Highest Growth Potential Award ได้แก่ ทีม Quizmo แพลตฟอร์มประเมินทักษะที่จำเป็นในการสมัครงาน และแนะนำเส้นทาง Reskill ที่จะมา disrupt ตลาดการจ้างงาน รางวัล VC's Most Promising Award ได้แก่ ทีม Tockto VR แอพพลิเคชั่นเรียนภาษาผ่านการท่องเที่ยวในโลกเสมือนจริงบนมือถือ และรางวัล Most Improved Award ได้แก่ ทีม Sukjai แอพพลิเคชั่น ฝึกวินัยทางการเงินส่วนบุคคลผ่านเกมและการเรียนรู้แบบ Interactive โดยแต่ละทีมจะได้รับเงินรางวัล ทีมละ 10,000 บาท พร้อมโอกาสในการรับเงินทุนสนับสนุนจาก กสศ. เพื่อพัฒนาศักยภาพและต่อยอดในโครงการบ่มเพาะของ StormBreaker Accelerator ต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับทีมที่ไม่ได้รับรางวัล แต่มีศักยภาพในการนำไปปฏิบัติงานต่อ และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกขั้นพื้นฐาน จะได้รับสิทธิในการพิจารณาขอรับทุนจาก กสศ.และเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะเพื่อต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมด้วยเช่นกัน ​ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในฐานะผู้ให้การสนับสนุน Startup สาย Social Impact ว่า จากที่ได้รับฟังการนำเสนอของทีมในกลุ่ม Social Impact Track สิ่งที่ได้เห็นจากคนรุ่นใหม่ คือ พลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น และการคิดถึงผู้อื่นด้วยความเข้าใจและเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตนเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่เป็นความหวังของสังคมไทย ที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องเริ่มฟังคนกลุ่มนี้ว่าสามารถช่วยเหลือให้เขาทำงานที่ตั้งใจได้อย่างไร ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษาแบบ All for Education ทุกคนเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาด้วยกัน ซึ่งหากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มาช่วยสนับสนุนพลังคนรุ่นใหม่ก็จะทำให้สังคมไทยเกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนจึงอยากเชิญชวนให้ภาคเอกชน และคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย ก้าวออกมาทำงานร่วมกัน เพราะหากสามารถสร้างความเสมอภาคการศึกษาให้เกิดขึ้นได้ ทุกคนในสังคมก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คของ กสศ. ได้อย่างต่อเนื่อง ​“สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ มีจุดเด่นในเรื่องความคมชัดของประเด็นที่จะเข้าไปแก้ปัญหา มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง และรู้ว่าตนเองมีจุดแข็งอะไร ที่สามารถนำเอาประสบการณ์และจุดแข็งที่มีมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ ซึ่งจุดแข็งของทีมจะเป็นแกนของธุรกิจที่สามารถทำให้ดำเนินการต่อไปได้ อาจจะไม่ใช่ทีมที่ทำได้เยอะ หรือทำได้หลายอย่าง แต่เป็นทีมที่มีความชัดเจนในตัวเอง ตอบได้ว่าปัญหาคืออะไร มีแผนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน โดยที่ตัวเขาเองไม่จำเป็นต้องอยู่กับสิ่งนั้นตลอดไป แต่สามารถขับเคลื่อนต่อได้ด้วยชุมชนและสังคมเป็นเจ้าของ ครั้งนี้ถือว่าทุกทีมประสบความสำเร็จ เพราะได้นำเสนอสิ่งที่ได้คิดเพื่อพัฒนาการศึกษาไว้ และ กสศ.จะมีรูปแบบการทำงานร่วมกันกับทีมเหล่านี้ต่อไปในอนาคต แม้ไม่มีชื่อได้รับรางวัลก็ตาม” ดร.ไกรยส กล่าว ​ด้าน นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt Technology Venture โรงเรียนสอนนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ กล่าวว่า ตนได้รับพลังจากทีมผู้เข้าแข่งขันทั้ง 30 ทีมอย่างมาก เพราะทุกทีมล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ลงไปลุยกับปัญหาจนเข้าใจถึงแก่น ต้องการแก้ปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาให้เกิดขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ก่อนการนำเสนอในรอบสุดท้าย หลายทีมทำงานหนัก มีการลงพื้นที่ นำข้อมูลมาขอคำแนะนำ และนำไปปรับแก้โครงการอย่างจริงจัง หรือแม้แต่นำเสนอรอบสุดท้ายแล้วยังทำงานกันต่อเนื่อง โดยไม่นำเรื่องรางวัลมาเป็นเงื่อนไขสำคัญ บางทีมแม้ผู้สมัครอายุยังน้อย แต่ก็มีศักยภาพและความสามารถสูงมาก จนตนอยากให้ฉายาเด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คนว่า “เด็กปีศาจ” เพราะสามารถคิดสร้างสรรค์ หาทางออกของปัญหาได้อย่างคาดไม่ถึง นอกจากนี้ทุกทีมต่างมีความเห็นใจเข้าใจปัญหาของผู้อื่น จนนำมาสู่กระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ ซึ่งสถานการณ์ปัญหาการศึกษาของไทยนั้นมีหลายด้าน กลุ่มเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้เสมือนเป็นไม้คบไฟที่จะช่วยกันส่องสว่างให้ปัญหาเหล่านั้นลดน้อยหรือหมดไปในอนาคต ดังนั้น ผลการแข่งขันในครั้งนี้ ไม่เพียง 30 ทีมที่เป็นผู้ชนะ แต่ประเทศไทยก็ชนะด้วยเช่นกัน ​“ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน น้อง ๆ รุ่นใหม่ ติดตามเพจของ Disrupt และ กสศ. เพื่อเข้ามาร่วมกิจกรรมหรือโครงการด้านการศึกษาด้วยกัน เพราะที่นี่เป็นชุมชนที่อบอุ่น แหล่งรวมพันธมิตรที่ทุกคนต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา พร้อมให้คำปรึกษา และสนับสนุนให้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดเป็นผลสำเร็จ โดยทุกคนไม่ได้วางเป้าหมายไว้ที่ตัวเงิน แต่คิดถึงการร่วมกันคนละไม้คนละมือสร้างประโยชน์ต่อสังคม และเป็นโอกาสดีที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพลังสำคัญในอนาคต ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะได้กลับไปคือความสุขที่เงินก็ไม่สามารถซื้อได้อย่างแน่นอน” นายเรืองโรจน์ กล่าว