สายเลิกบุหรี่ 1600 จับมือ อสม. และ สสส. เปิดตัว “โครงการรวมพลังตามหาคนอยากเลิกบุหรี่” ชวน อสม. ลงชุมชนค้นหาคนอยากเลิกสูบบุหรี่ ส่งต่อให้สายเลิกบุหรี่ 1600 ดูแล ประคับประคอง ให้คำปรึกษาจนเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ด้าน รมช.สธ. ชี้ โครงการน้ำดีช่วยหนุนเสริมนโยบายรัฐ แคมเปญ #เลิกสูบลดเสี่ยง ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สู่สาธารณะ วันนี้ (24 มิถุนายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ สายเลิกบุหรี่ 1600 ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการรวมพลังตามหาคนอยากเลิกบุหรี่” เพื่อสร้างความตระหนัก และชวนประชาชนให้ลดหรือเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิดได้สำเร็จในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรค COVID-19 จะลดระดับลงแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท และเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน จึงมีแนวคิดให้ อสม. ทั่วประเทศลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน เพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนอย่างละเอียด ดังนั้นเพื่อให้การลงพื้นที่ของ อสม. ทั่วประเทศในครั้งนี้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น สธ. จึงร่วมกับศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ และ สสส. เดินหน้าโครงการรวมพลังตามหาคนอยากเลิกบุหรี่ โดยผนึกกำลังกับ อสม. ในการค้นหาและเชิญชวนให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ในช่วงไวรัสระบาด ร่วมกันสร้างความตระหนัก ค้นหา และชวนประชาชนให้ลดหรือเลิกสูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิดได้สำเร็จในช่วงภาวะวิกฤต เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงติด อาการป่วยทรุดหนัก และแพร่กระจายไวรัสก่อโรคโควิด-19 สู่สาธารณะได้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ทำโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน จึงได้ต่อยอดพัฒนาประเด็นการเลิกบุหรี่เชิงคุณภาพ โดยมีสายเลิกบุหรี่ 1600 และ สสส. เข้ามาช่วยหนุนเสริม ดูแลให้คำปรึกษาคนที่อยากเลิกบุหรี่ให้สามารถเลิกบุหรี่สำเร็จมากขึ้น และยังเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวิถีความปกติใหม่ หรือ New Normal ที่ยังคงรักษาระยะห่าง หรือ Social Distance เนื่องจากเป็นการทำงานผ่านระบบแอปพลิเคชัน SMART อสม. และแอปพลิเคชัน U-Refer ของสายเลิกบุหรี่ 1600 รวมถึงระบบการให้บริการผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ ถือเป็นการผนึกจุดแข็ง และบูรณาการทั้งทรัพยากร เทคโนโลยี กำลังคน ความสามารถ ที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงานมาต่อยอดเสริมการทำงานซึ่งกัน ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ อสม. ทั่วประเทศ จะช่วยให้คนในชุมชนเข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ที่มีคุณภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และชุมชนที่จะปลอดภัยจากควันบุหรี่ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. โดยแผนควบคุมยาสูบ มีแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ โดยทำงานร่วมกับภาคีกว่า 20 หน่วยงาน รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่ง สสส. ได้เชื่อมโยง ขยายเครือข่าย พร้อมออกยุทธศาสตร์ต่างๆ ช่วยหนุนเสริม รวมถึงการออกมาตรการป้องกันและควบคุมเพื่อปกป้องสุขภาพคนไทยจากภัยของบุหรี่ ขณะนี้ถึงเวลาที่คนไทยควรหันหลังให้บุหรี่ได้แล้ว โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ปี 2560 พบว่า คนไทยเสียชีวิตเพราะบุหรี่ถึง 72,656 คน โดยผู้เสียชีวิตแต่ละคนเสียชีวิตเร็วขึ้น 18 ปี โดยเฉลี่ยต้องทุพพลภาพก่อนเสียชีวิต 3 ปี ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ในปี 2560 พบว่า บุหรี่เป็นสาเหตุให้คนไทยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 580,794 ครั้งต่อปี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) “การสูบบุหรี่ยังส่งผลเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่าไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 87,250 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.56 ของ GDP และคิดเป็นร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ แบ่งเป็นต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 77,173 ล้านบาท ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 8,891 ล้านบาท” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ สายเลิกบุหรี่ 1600 รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ สายเลิกบุหรี่ 1600 กล่าวว่า ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีความจำเป็นต้องหยุดและเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจาก “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง” สายเลิกบุหรี่ 1600 จึงเตรียมพร้อมทั้งจำนวนบุคลากร คู่มือ และเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้ อสม.สามารถช่วยให้ผู้สูบได้รับการบำบัดเลิกบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการเลิกบุหรี่นั้นต้องเริ่มที่ใจ จากประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปี พบว่า การเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ โอกาสเลิกได้สำเร็จเพียงแค่ร้อยละ 5 แต่ถ้าเลิกกับสายเลิกบุหรี่ 1600 สามารถช่วยให้เลิกบุหรี่สำเร็จต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 32 เพราะนวัตกรรมบริการให้คำปรึกษา ชุดข้อความสร้างเสริมกำลังใจ องค์ความรู้ในการเลิกบุหรี่ใหม่ๆ รวมถึงระบบการส่งต่อผู้อยากเลิกบุหรี่ และการทำงานแบบเรียล ไทม์ ที่กลายเป็นต้นแบบให้กับสายเลิกบุหรี่ในหลายประเทศ ซึ่งในเวทีวิชาการนานาชาติยืนยันตรงกันว่า การให้บริการเลิกบุหรี่จะประสบความสำเร็จ หากสามารถทำงานร่วมกับภาคีในระดับชุมชน โดยบุคลากรสุขภาพและผู้นำชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ ซึ่งการทำงานร่วมกับภาคีระดับปฐมภูมิเป็นกลวิธีสำคัญหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2