วันที่ 4 มิ.ย.63 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เชิญประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2563 พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าสถานการณ์การผลิตและตลาดโลก ปี 2562-62 มีผลผลิตและความต้องการใช้น้ำมันปาล์มโลกอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านตันเศษ ซึ่งลดลงร้อยละ 2 โดยมีสต๊อกคงเหลือ 10.5 ล้านตันเศษ ซึ่งลดลงร้อยละ 3สถานการณ์ในไทยปี 2562  ผลผลิตจากสวนปาล์มนำ้มันมีปริมาณ 16.7 ล้านตัน ราคาเฉลี่ย กก. ละ 3.11 บาท ทำให้ชาวสวนปาล์มมีรายได้เกือบ 5.2 หมื่นล้านบาทเศษ นำมาสกัดเป็นนำ้มันปาล์มดิบ (CPO) ได้ 3.5 ล้านตัน โดยมีอัตรานำ้มันที่สกัดได้ 18.21% ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงปลายของไตรมาสแรกปี 2563 ผลปาล์มน้ำมันสดเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 ต่อเนื่องไปถึงเดือน ก.ค. 2563 โดยมีการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้นตามนโยบายส่งเสริมบี 10 ของรัฐบาล สถิติความต้องการใช้น้ำมันปาล์มจึงสูงขึ้นในช่วงต้นปี โดยปริมาณการใช้ลดตำ่ลงประมาณ 18% เนื่องจากได้รับผลกระทบสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติในเดือน มิ.ย. 2563 สถานการณ์ด้านราคาในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ต่อเนื่องถึงกลางไตรมาสแรกปี 2563 ราคาปาล์มนำ้มันเฉลี่ยทะลุ กก.ละ 7 บาทในเดือน ม.ค.2563 สูงสุดในรอบ 10 ปี และเริ่มชะลอตัวลงเรื่อยๆ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 เดือนเม.ย. และ พ.ค. ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กก. ละ 3.22 บาท และ 3.09 บาทตามลำดับ สำหรับการบริหารจัดการสต๊อกนำ้มันปาล์มปี 2562-63 มีการส่งออกเกือบ 3 แสนตัน กฟผ. รับซื้อไปผลิตไฟฟ้าตามมาตรการดูดซับนำ้มันปาล์มดิบอีก 3.1 แสนตัน ทำให้สต๊อกปลายปี 2562 คงเหลือ 3.19 แสนตัน เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องถึงจุดต่ำสุดที่ 1.78 แสนตัน ณ สิ้นเดือน ก.พ. และเดือน มี.ค. 2563 โดยสต๊อกเริ่มทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 คาดว่าสต๊อกน้ำมันปาล์มจะมีมากกว่า 4 แสนตัน ณ สิ้นไตรมาส 2ของปีนี้  พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตาม มติ กนป. หลายประการ อาทิ (1) กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศให้นำ้มันปาล์ม แฟรกชันของน้ำมันปาล์ม และนำ้มันเนื้อในเมล็ดปาล์มเป็นสินค้าต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้าและนำผ่าน (2) การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันฯ ต้ังแต่งวดแรก 1 ต.ค.2562 ถึงงวดที่ 6 ณ 15 พ.ค.2563 จ่ายจริง 3 งวด จำนวน 3.5 แสนครัวเรือน วงเงิน 3,858 ล้านบาท ไม่มีการจ่ายเงินประกันรายได้ 3 งวด เนื่องจากราคาตลาดอ้างอิงสูงกว่าราคาเป้าหมาย ( 4 บาท/กก.) (3) การนำนำ้มันปาล์มดิบ 96,200 ตันไปผลิตกระแสไฟฟ้าตามมาตรการดูดซับน้ำมันปาล์มของ กฟผ. มียอดคงเหลืออีก 37,550 ตัน สำหรับเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาและได้รับความเห็นชอบ กนป. มี 3 เรื่อง เรื่องแรก หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กนป. และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหา เน่ืองจากผู้ทรงคุณวุฒิใน กนป. 10 ท่าน ครบวาระ 2 ปี เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2563 โดยที่ผ่านมา มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านดำรงตำแหน่ง 2 - 4 วาระ เรื่องที่ 2 ให้ใช้โครงสร้างราคาฯ ตามมติ กนป. เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2562 และ มติ ครม. เม่ือวันที่ 9 ก.ค.2562 ซึ่งได้มีการคำนวนราคาผลปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้การซื้อขายผลปาล์มน้ำมัน นำ้มันปาล์มดิบ และนำ้มันปาล์มบรรจุขวดเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ จนกว่าจะมีผลการศึกษาอย่างเป็นทางการต่อไป เรื่องที่ 3 เห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มระดับจังหวัด โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 5 จังหวัดภาคใต้ (ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และนครศรีธรรมราช) เพื่อเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าในการแปลงมาตรการ แนวทาง แผนงาน โครงการ รวมทั้ง ประกาศ คำสั่งต่างๆ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ผ่านความเห็นชอบเป็น มติ กนป. และข้อสั่งการประธาน กนป. ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ให้ประสานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบครบวงจร ต่อกรณีที่คาดว่า สต๊อกนำ้มันปาล์มดิบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกิน 4 แสนตันภายในไตรมาสที่ 2 พล.อ.ประวิตร ประธาน กนป. จึงได้เร่งรัดให้ กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิดแห่งประเทศไทย จัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบตามกรอบที่ ครม. ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้วและยังจัดซื้อไม่เสร็จอีก 3.7 หมื่นตัน บวกกับยอดสำรองไว้อีก 1 แสนตัน รวม 137,550 ตัน เพื่อพยุงราคาผลปาล์มนำ้มันมิให้ตกตำ่ในช่วงฤดูกาลที่ผลปาล์มจะล้นตลาดนี้ โดยได้แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รอง ลธน.ม. เป็นประธานอนุกรรมการ เข้ามาดูแลขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการให้เป็นไปตามมติ กนป. ต่างๆ และเป็นศูนย์ประสานงานกลางในการติดตามงานและแก้ปัญหาทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัด และแต่งตั้งให้ ผวจ. สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ชุมพร และนครศรีธรรมราช เป็น CEO ของทีมงานระดับจังหวัด จัดชุดปฏิบัติการเข้าไปให้ความรู้ในการตัดปาล์มสุก กวดขันการรับซื้อที่ลานเท และหน้าโรงงานสกัดตามโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย นอกจากนี้ ยังได้ให้นโยบายในการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ ให้คัดเลือกคนเก่งรู้ปัญหาจริง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีความตั้งใจเพื่อเข้ามาช่วยงานของ กนป. ให้ก้าวไปข้างหน้า แก้ปัญหา และพัฒนาอย่างยั่งยืน