กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดงานเสวนาสาธารณะหัวข้อ "Poor Students, Rich Teaching สอนเปลี่ยนชีวิต - สู้ความเหลื่อมล้ำด้วยพลังแห่งการสอน" ผ่าน เฟสบุ้ก ไลฟ์ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) กสศ. กล่าวว่า จากที่ได้อ่านหนังสือ Poor Students, Rich Teaching ของ Eric Jensen สถานการณ์ของสหรัฐอเมริกาก็มีการด้อยโอกาสทางการศึกษา 52 % ใกล้เคียงกับสถานการณ์ของไทย โดยส่วนหนึ่งของความด้อยโอกาสเกิดจากในห้องเรียน ซึ่งรวมถึงห้องเรียนของโรงเรียนดี ๆ มีคุณภาพ ทั้งนี้ วงการศึกษาไทยปลูกฝังกันมานานโดยครูจะรักนักเรียนที่เรียนเก่งและชังเด็กหลังห้อง เด็กเกเร โดยหนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยเปลี่ยนความคิดทางการศึกษาได้ เป็นโอกาสที่ดีของครูที่จะได้เรียนรู้วิธีช่วยเด็กเกเรหลังห้อง ซึ่งในหนังสือไม่ได้เป็นเฉพาะชุดความคิดแต่ยังรวมถึงชุดการกระทำ ทำให้เด็กเกือบทุกคนบรรลุเป้าหมายนี่คือแรงบันดาลใจของหนังสือเล่มนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า ​ส่วนหนึ่งของนักเรียนในไทยเป็นเด็กที่ขาดแคลนการสนับสนุนเชิงอารมณ์ การยอมรับตัวเองหรือพัฒนาความภาคภูมิใจ ทำให้การเรียนก็จะเป็นเรื่องน่าเบื่อ โดยในหนังสือ Seven vectors of development ของ Arthur W. Chickering ได้มีการพูดถึง 7 ประเด็นในการพัฒนาทั้ง 1. การพัฒนาขีดความสามารถ 2. การจัดการอารมณ์ 3.พัฒนาจากการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไปสู่ความเป็นอิสระ 4. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 5. พัฒนาอัตลักษณ์ของตัวเอง 6. นำไปสู่เป้าหมายชีวิต และ 7.ความมีคุณธรรม ซึ่งการศึกษาที่จัดอยู่ทั่วไปไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ เพราะสอนเน้นไปด้านวิชาการส่วน 7 ด้านนี้เป็นของแถมจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องการสร้างสิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เราเห็นความหวังว่าจะสามารถพัฒนาการศึกษาได้โดยใช้หนังสือ Poor Students, Rich Teaching มาช่วยชี้ทาง ซึ่งมีแนวคิดวิธีการที่น่าจะใช้ได้ผลดี สิ่งสำคัญคือความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งมีสัญชาตญาณ มีศักยภาพในการ ซึ่งหัวใจสำคัญของการศึกษาคือเรื่องการเรียนรู้ ที่ผ่านมาการศึกษาในศตวรรษที่ 20 เน้นผลิตคนให้ออกมาเหมือนๆ กันเพื่อไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรมมีกฎเกณฑ์กติกาตายตัว แต่ต่อมาเรารู้ว่าเป็นวิธีที่ล้าสมัยซึ่งการศึกษาไทยยังไปไม่ถึงการศึกษาในศตวรรษที่ 21 แต่ก็มีความพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ดังนั้น 7 วิธีการจากหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหลักปฏิบัติที่สามารถโยงเข้าสู่ประเทศไทยและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ ​ นอกจากนี้ ระบบการศึกษาที่ดีจะต้องไว้ใจครูให้เกียรติครู และต้องให้การสนับสนุนครู โดยการศึกษาในศตวรรษ 21 ไม่มีหยุดนิ่ง ยังมีการพยายามทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ ในช่วง 10-20 ปี OECD ระบุว่า หัวใจในการพัฒนาคนคือ “การคิดแบบสร้างสรรค์” ที่ต้องหาวิธีจัดการเรียนการสอนซึ่งไม่ยาก หลายโรงเรียนใช้วิธีการแอคทีฟเลิร์นนิ่ง และ “ไฮเพอร์ฟอร์มมิ่ง คลาสรูม” เช่น ครูจะต้องทำหน้าที่กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้หลายด้านพร้อมกัน ทั้งวิชาความรู้ นิสัยใจคอ จิตวิญญาณ จากที่ได้คุยกับทางศาสตราจารย์จากฟินแลนด์ การเรียนรู้ที่โรงเรียนเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ถึงครึ่งของการเรียนรู้ทั้งหมด ยังมีการเรียนรู้จากพื้นที่ ชุมชน สังคม ต้องมีพื้นที่การเรียนรู้เพราะเด็กที่ฟินแลนด์เลิกเรียนบ่ายสองก็ต้องไปทำกิจกรรมเข้าชมรมที่ตัวเองสนใจ การที่เราจะมีพลเมืองคุณภาพสูงเราจะต้องจัดพื้นที่การเรียนรู้ไม่ใช่แค่เน้นเฉพาะการเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนทางศึกษาที่ต้องแก้ไขคือเรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษา มีเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจนพิเศษ เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งนอกจากข้อมูลจากสภาพัฒน์ ฯ ระบุว่าผลกระทบจากความยากจนและ COVID-19 ทำให้เด็ก 6.7 แสนคนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา อีกด้านหนึ่งยังเห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ข้อมูลจาก PISA 2018 ระบุว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงมากอยู่ในระดับเดียวกับประเทศแถบละตินอเมริกา ทั้ง ชิลี เปรู โคลัมเบีย ซึ่งพบว่ามีความแตกต่างระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่สูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรงบประมาณไม่เกิดการกระจายตัวที่ดีนักควรมีการสนับสนุนเพิ่มเติมให้โรงเรียนขนาดเล็กและนักเรียนยากจนพิเศษ อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนสิ่งสำคัญคือต้องทำบรรยากาศให้เกิดกวามคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียนเด็กเชื่อมั่นในตัวเอง คิดในเชิงบวก ซึ่งการจะทำได้ครูจะต้องเชื่อมั่นใจตัวเด็กก่อนว่า เด็กที่เขาสอนจะสามารถประสบความสำเร็จพัฒนาตัวเองได้ แม้แต่จะเป็นเด็กที่มีฐานะยากจน หรือมีความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ แต่ถ้า ถ้าครูมีทีศนคติดที่ดี เชิงบวกก็จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความสำเร็จ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จากในหนังสือ และสามารถขยายผลต่อไปในทางปฏิบัติ โดยที่จะต้องให้อิสระ โรงเรียนเรียน ครู ในการดำเนินการสอนที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ไม่ใช่ยึดทำตามจากระบบของส่วนกลาง และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณภาพครู ทั้งคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนามายด์เซ็ต และให้อิสระในการทำงานด้วย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของการศึกษาคือเราไม่เคยมีความชัดเจนเรื่องปรัชญาการศึกษา จนเกิดความอ่อนแอในการผลิตและพัฒนาครู ที่ผ่านมานโยบายการศึกษาเป็นแบบบนลงล่าง การพัฒนาจึงต้องทำอย่างไรถึงจะให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมในห้องเรียนได้ เพราะเราไม่สร้างหลักสูตรเดียวที่ใช้ได้กับทุกคนได้ โดยกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคือคุณครู ซึ่งมีกองหน้าบุกเบิกนวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ ๆ แต่ต้องไปดูว่าทำไมครูเหล่านี้ไม่สามารถแสดงศักยภาพหรือความสามารถออกมาได้ตรงนี้เป็นคำถามใหญ่ สิ่งสำคัญคือเรื่องระบบที่ต้องให้อิสระโรงเยน ตั้งแต่การคัดเลือกครูให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของตัวเองไปจนถึงอิสระในเรื่องหลักสูตร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้มีมากมายในการพัฒนาการศึกษา สิ่งหนึ่งคือเรื่องการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจของครูกับนักเรียนซึ่งจะต้องทำให้เป็นเชิงราบมากขึ้นจากเดิมที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจสูงมาก เพื่อทำให้เกิด เกิดโกรธ์ มายเซ็ต ไม่ใช่ให้นักเรียนอยู่ในบรรยากาศความหวาดกลัว โดยช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราเริ่มเห็นความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการเรียนการสอน ซึ่งการจัดการศึกษาในอนาคตตัวระบบนิเวศน์การเรียนรู้ต้องเปลี่ยนแน่นอน โรงเรียนอาจไม่สถานศึกษาเพียงลำพังแต่ต้องมี บ้านผู้ปกครองงเข้ามามีบทบาทร่วมกันกับครูมากขึ้น ซึ่งที่จะต้องมีก็คือ แพลตฟอร์มที่หลากหลายรูปแบบ พื้นที่สำหรับเด็กเปราะบางยากจนพิเศษก็ต้องแบบหนึ่งเด็กในเมืองก็ต้องแบบหนึ่ง ทั้งหมดต้งอมีความหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้เรียน น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนต้นกล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณเรื่องการศึกษาไปสร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่าการไปอุดช่องว่าจัดการความเหลื่อมล้ำ โดยการให้งบประมาณแบบรายหัวของเด็ก โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีจำนวน 1.5 หมื่นโรงมากว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมด ทำให้แทบไม่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้เลย ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการพัฒนาแค่จัดการโครงสร้างพื้นฐานก็ยังยาก ซึ่งหากเทียบกับฟินแลนด์ที่เริ่มพัฒนาการศึกษาหลังหยุดสงครามก็ไม่ได้ใช่งบประมาณจำนวนมาก แต่ของไทยยังติดเรื่องของระเบียบตัวประเมินต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จะพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีการบริหารจัดการได้ง่ายกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งหากทำให้การจัดสรรทรัพยากรสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กมีประสิทธิภาพก็จะเกิดประโยชน์ ทำให้โรงเรียนใกล้บ้านค่อย ๆ มีคุณภาพ เทียบเท่ากับกับโรงเรียขนาดใหญ่ถือเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย และหากมองว่าช่วงนี้เป็นโอกาสจะสามารถทำให้เกิดการปรับเนื้อหาการเรียนการสอนมุ่งสร้างทักษะให้เด็กมากกว่าแบบเดิมๆ ที่เคยทำกันมา ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการศึกษาไทยซึ่งเริ่มเห็นความคิดสร้างสรรค์ในหลายภาคส่วน โดยเราสามารถสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้หลากหลายมากขึ้น นายศุภวัจน์ พรมตัน ครูโรงเรียนนครวิทยาคม จ.เชียงราย เจ้าของเพจ อะไรอะไรก็ครู กล่าวว่า การจัดสรรงบแบบรายหัวทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่มีจำนวนนักเรียนมากว่าได้งบมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้เกิดความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามจากที่ได้ไปอบรมเรื่อง Learning Facilitator ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเกือบสองเดือน ทำให้เห็นวิธีการสอนแบบใหม่สามารถกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนและทำให้บรรยากาศห้องเยนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่ตรงนี้ทางผู้บริหารต้องให้อิสระ ซึ่งโชคดีที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ถูกคาดหวังสูงนักทำให้มีโอกาสได้ทดลองหาวิธีที่ดี ๆ ชวนทำ ชวนเล่น เด็กรู้สึกว่าสนุกขึ้น บรรยากาศในห้องดีขึ้น คะแนนสอบก็ดีขึ้้น อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เราเห็นเพื่อนครูในเครือข่ายที่กำลังช่วยกันออกแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กได้มีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น หลายคนก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งวิธีการสอน บรรยากาศ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นบรรยากาศอย่างนี้มาก่อน แต่2-3 ปีที่ผ่านมานี่คือกระบวนการที่เรากำลังจะร่วมกันเปลี่ยนการศึกษานี่คือความหวัดที่ชัดเจนที่สุด