สวทช. จับมือเอกชน เป็นสื่อกลางโรงพยาบาล และผู้ประสงค์บริจาคอุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ ผ่าน Platform “ds4covid19.in.th” มีอาวุธป้องกัน และรักษาโรค COVID-19 เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงถึงระบบ Medical Devices Demand-Supply Matching Platform for COVID-19 เพื่อระบบบริหารจัดการความต้องการอุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ สู้ภัย COVID-19 ว่า ปัจจุบันผลงานวิจัยและนวัตกรรมอุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ จากฝีมือนักวิจัยไทย ได้เกิดขึ้นมากมาย จากการรวมพลังของนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี อาจารย์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งมอบให้สถานพยาบาลทั่วประเทศได้ใช้งานในการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ข้อมูลความต้องการ (Demand) อุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์จากสถานพยาบาล กับข้อมูลการจัดหา (Supply) อุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ของผู้ประสงค์บริจาค ขาดการบริหารจัดการในภาพรวมอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การกระจายอุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ไม่ได้ถูกส่งไปใช้งานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ดร.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ดังนั้น อว. โดย สวทช. เล็งเห็นถึงปัญหาในจุดนี้ จึงร่วมมือกับบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนา ICT Platform: Medical Devices Demand-Supply Matching for COVID-19 ที่ URL: mds4covid19.in.th เพื่อเป็นสื่อกลางในการรวบรวมข้อมูลความต้องการจากโรงพยาบาล/สถานพยาบาล ที่มีความต้องการรับบริจาคอุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ ประสานไปยังผู้ประสงค์บริจาคทั้งในนามบุคคลหรือนิติบุคคลผ่าน Platform เชื่อมกันโดยตรง เพื่อให้ Demand และ Supply เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ “อย่างไรก็ตาม ในอนาคตสามารถนำ Platform นี้ ไปใช้กับการบริจาคอื่นได้ เช่น การเกิดภัยพิบัติ หรือเกิดโรคอุบัติใหม่ สามารถใช้ระบบนี้ไปพัฒนาต่อยอดได้อีกด้วย”รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว ด้านนายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Platform นี้ จะช่วยกำหนดสเปคอุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ให้กับผู้ที่ประสงค์จะบริจาค ให้ตรงตามความต้องการของโรงพยาบาล เช่น ชุด PPE ต้องมีเสปคแบบไหน ซึ่งการมี Digital Platform จะช่วยให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ เข้าถึงความต้องการอุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ รวมทั้งยังรองรับถึงกลุ่มโลจิสติกส์ต่างๆ สามาถเชื่อมงโยงใน Platform นี้ เพื่อไปรับอุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์จากผู้ที่ประสงค์จะบริจาค ส่งไปถึงโรงพยาบาลอีกด้วย