“ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา”ปลื้มนักดื่ม ร้อยละ48.5 หยุดดื่ม ลดเสี่ยงโควิ -19 ชี้คนไทยส่วนใหญ่รู้ว่าการดื่มเหล้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดและทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ด้านแกนนำชวนคนเลิกเหล้า เตือนต้องหยุดการตั้งวงเหล้าเด็ดขาด ใช้โอกาสนี้ลด ละ เลิก เก็บเงินไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น เมื่อวันที่ 24 เม.ย.63 ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลาณครินทร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่วาว่า จากการสำรวจประชาชนใน 15 จังหวัดทั่วประเทศโดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,566 คน ซึ่งมีสัดส่วนหญิงชายพอ ๆ กันและมีการกระจายของลักษณะประชากรในทุกกลุ่มอายุ อาชีพ ระดับการศึกษา และที่อยู่ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล ที่เป็นตัวแทนของประชากรไทย เก็บข้อมูลในวันที่ 18 - 19 เมษายน 2563 พบว่า ในช่วง 30 วันที่ผ่านมานี้ นักดื่มสุราเกือบครึ่ง (ร้อยละ 48.5) ไม่ได้ดื่มเลย ร้อยละ 33.0 ดื่มน้อยลง ขณะที่ร้อยละ18.2 ดื่มเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ0.3 ที่ดื่มบ่อยขึ้น เหตุผลหลักที่ทำให้นักดื่มเหล่านี้หยุดดื่มหรือดื่มน้อยลง คือ หาซื้อไม่ได้/ ซื้อยาก กลัวเสี่ยงติดเชื้อ รายได้น้อยลง/ ไม่มีเงินซื้อ และต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดื่มเท่าเดิมหรือเพิ่มมากขึ้นบอกเหตุผลว่า เพราะชอบดื่มสังสรรค์ และมีคนชวนดื่มจึงขัดไม่ได้ รวมทั้งเพราะเครียดและมีเวลาว่างมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 77.1) ดื่มที่บ้าน หรือที่พักของตัวเอง และกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ37.0) ดื่มกับคนในครอบครัว โดยตัวอย่างร้อยละ 35.8 ระบุว่าได้ซื้อเครื่องดื่มฯตุนไว้ก่อนที่จะมีประกาศห้ามขาย ที่น่าสังเกตุคือ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ตุนไว้ก่อน มีถึงร้อยละ 16.2 ยังหาซื้อได้จากร้านขายของชำในชุมชน/ หมู่บ้าน นอกจากนี้ ร้อยละ15.7 ระบุว่ายังพบเห็นการดื่มสังสรรค์ในชุมชน/ หมู่บ้าน และร้อยละ 5.8 ยังพบเห็นว่ามีการขายในชุมชน/ หมู่บ้าน ในช่วงวันที่ประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าวว่า เมื่อสอบถามถึงการได้รับความเดือดร้อนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตัวอย่างร้อยละ 67.8 ระบุว่าสูญเสียรายได้ ร้อยละ 53.5 ระบุมีความยากลำบากในการทำงาน/ ประกอบอาชีพ และร้อยละ 32.8 ระบุยากลำบากในการกินอยู่ ที่น่าพิจารณาคือร้อยละ 26.4 มีความเครียด วิตกกังวล ร้อยละ 24.9 มีค่าครองชีพ/ค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมถึงร้อยละ 12.1 ตกงาน/ ถูกเลิกจ้าง มีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 9.1) ที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ ในทางตรงข้าม หากสอบถามถึงความเดือดร้อนในช่วงห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าตัวอย่างประมาณร้อยละ 90.5 ระบุไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ มีเพียงร้อยละ5.9 เดือดร้อนจากการไม่ได้ดื่มสังสรรค์ ร้อยละ3.6 เสียรายได้จากการขาย หรือเสียรายได้จากการปิดร้านอาหาร/ สถานบันเทิง และมีร้อยละ0.3 หรือ 5 รายจากตัวอย่างทั้งหมดที่มีอาการถอนพิษเหล้า นอกจากนั้น จากการสำรวจยังพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 73.6) ทราบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และร้อยละ77.6 ทราบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และอาจป่วยรุนแรง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนี้อาจมีส่วนดีในการช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญอันหนึ่งของคนไทยลง และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ รวมทั้งประชาชนจำนวนมากมีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการติดเชื้อโควิด-19”ศ.พญ.สาวิตรี กล่าว ด้าน นายวันชัย เหี้ยมหาญ ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าภาคตะวันตก และผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านหนองกอก ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กล่าวว่า เมื่อมีการห้ามขายเหล้าของจังหวัดในวันที่ 11 เมษายน 2563 ตนเองพร้อมผู้ช่วยฯ อสม. ได้สำรวจผู้ดื่มในชุมชน พบว่ามี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ติดหนัก จำนวน 7 ราย กลุ่มที่ดื่มแบบคึกคะนอง มักสร้างปัญหาจำนวน 16 ราย กลุ่มที่ดื่มในบ้าน กินก่อนอาหารก่อนนอน ก่อนไปทำงาน จำนวน 26 ราย และกลุ่มที่ดื่มบางครั้งตามโอกาส ดื่มในงาน หรือเพื่อนมาเยี่ยม ซึ่งคณะทำงานได้เฝ้าระวังอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ติดสุรา โดยได้คุยกับญาติไว้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดภาวะเสี้ยนเหล้า เช่น เหงื่อออก มือสั่น เพ้อคลั่ง จะมีอาการเป็นลม ต้องการมีเหล้าตุนไว้ แต่ก็ขอร้องให้ผู้ดื่มลดละในช่วงนี้ พบว่ามี 1 รายที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วใช้โอกาสนี้งดดื่มไปกว่า 10 วัน คาดว่าจะสามารถเลิกได้ต่อไป แต่ต้องมีการติดตามให้กำลังใจ ส่วนรายอื่นๆ ยังไม่สามารถงดได้ทางญาติต้องคอยดูแล ส่วนกลุ่มที่มักสร้างความเดือดร้อนคึกคะนอง ตอนนี้ไม่มีการตั้งวงดื่มตามศาลาเหมือนแต่ก่อน และปกติถ้าช่วงนี้จะมีงานบวชประจำปีมักมีการเลี้ยงเหล้าเกิดปัญหาความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะเป็นต้นเรื่อง ปีนี้งดงานบวชทำให้ไม่เกิดปัญหาขึ้นมาเหมือนทุกปี “จากการติดตามสอบถามคนในชุมชน มีเด็กบอกว่าพ่อไม่ต้องกินเหล้าทำให้ไม่ต้องมาทะเลาะกับแม่ และยายก็ไม่ต้องร้องไห้ ส่วนร้านค้าในชุมชนซึ่งมี 4 ร้าน พบว่า ไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะกำไรจากเหล้าเบียร์ไม่ได้มาก ของอย่างอื่นยังขายได้ตามปกติ ที่ได้อีกอย่างคือได้นอนหลับสนิทเพราะไม่ต้องถูกเคาะประตูเรียกให้มาขายเหล้าตอนดึก ตนเองรณรงค์งดเหล้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถช่วยเหลือและเข้าใจนักดื่มในชุมชน และทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยทั้งเชื้อไวรัสและความเสี่ยงจากเหล้า หากมีการเปิดให้ซื้อขายเหล้าเบียร์ได้อีกครั้งต้องค่อยๆ เปิดและจำกัดเวลาจำกัดปริมาณเพื่อไม่ให้มีการกลับมาตั้งวง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอีก ข้อสำคัญในช่วงนี้ควรงดการตั้งวงก๊งเหล้าเด็ดขาด และใช้โอกาสนี้ในการลด ละ เลิก เก็บเงินไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นดีกว่า” นายวันชัย กล่าว