มหาวิทยาลัยมหิดล เชิญชวนชาวไทยร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูปและหอพระเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 2 เมษายน 2563 มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับพระราชานุญาตให้ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วยการจัดสร้างพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ขนาดหน้าตัก 65 นิ้ว และหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ขอเชิญชวนชาวมหาวิทยาลัยมหิดลและคนไทยทุกคนร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีและความรักที่มีต่อพระองค์ท่าน โดยจะมีพิธีเททองหล่อพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ และพิธีวางศิลาฤกษ์หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ ในวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2563 ณ บริเวณหน้าอาคารสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีต่อชาวมหาวิทยาลัยมหิดลและประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์โดยถ้วนหน้าว่า ทรงงานหนัก อุทิศพระวรกายอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ทรงทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและปวงชนชาวไทย ทั้งยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยมหิดลนานัปการ อาทิเช่น ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ทรงพระราชทานนามอาคารและเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และเปิดอาคารและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง นอกจากนั้นยังพระราชทานพระราชดำริในด้านการศึกษาและการพัฒนาในศาสตร์ต่าง ๆ อีกนานัปการ ในโอกาสที่พระองค์จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 65 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2563 มหาวิทยาลัยจึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ ขึ้น โดยประกอบด้วย 1. การจัดสร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 65 นิ้ว โดยนำต้นแบบมาจาก พระพุทธมหาลาภ ที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 28 ปีที่แล้ว (วันที่ 8 พฤษภาคม 2535) และ 2. หอพระเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป และลานปฏิบัติธรรมรอบหอพระ บริเวณสนามหญ้าหน้าอาคารสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีของบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อเป็นที่สักการะบูชา เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ประพฤติตนโดยยึดพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างแห่งการเสียสละเพื่อประชาชนและประเทศชาติ และใช้สถานที่ดังกล่าวสำหรับการปฏิบัติธรรมของนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล และประชาชนทั่วไป ในการดำเนินโครงการฯครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันเป็นมหามงคลที่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลและประชาชนทุกหมู่เหล่าจะได้ร่วมใจกันถวายสดุดี ถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยแข็งแรง มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญแด่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลและปวงชนชาวไทยตราบนิจนิรันดร์กาล และขอให้พระพุทธบารมีแห่งพระพุทธมหาลาภและพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ รวมถึงพระบารมีแห่งกรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯได้ทรงปกปักรักษาคุ้มครองชาวมหาวิทยาลัยมหิดลและประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่ามีความปลอดภัย มีขวัญและกำลังใจที่เข้มแข็ง มีความรักสามัคคี มีความร่วมมือร่วมใจกัน และมีสติปัญญาที่เข้มแข็ง สามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาร่วมกันของทั่วโลก และขอให้ประเทศไทยของเราได้มีความสุข ความสงบ และความเจริญวัฒนาถาวรยิ่งขึ้นไป ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานอำนวยการโครงการฯ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ ขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปีแห่งการครบรอบ 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นปีที่ 36 แห่งการก่อตั้งสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนและมหาวิทยาลัยมหิดล เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อตั้งสถาบันฯ และเสด็จเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในคราวเดียวกัน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2526 โดยโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปที่จะจัดสร้างนี้ว่า “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” ซึ่งหมายถึง “พระพุทธรูปที่นำมาซึ่งปัญญาหยั่งรู้อันกระจ่างแจ้งและเป็นมงคลแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” และให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” มาประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ สำหรับหอพระเฉลิมพระเกียรติฯได้รับพระราชทานชื่อว่า “หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์” (ตามสร้อยพระนามาภิไธย) และให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “ส.ธ.” มาประดิษฐานที่หน้าบันของหอพระเพื่อความเป็นสิริมงคลสืบไปด้วย ในการดำเนินการได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับมูลนิธิดร.เทียม โชควัฒนา (โดยดร.บุญเกียรติ โชควัฒนา) โดยมีอาจารย์ ดร.สุพร ชนะพันธ์ เป็นผู้ออกแบบพระพุทธรูปและหอพระเฉลิมพระเกียรติฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับพระเมตตาจากเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานแผ่นทองทรงจารและชนวน เพื่อเตรียมนำไปทูลเกล้าฯ ถวายกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อทรงประกอบพิธีเททองหล่อยอดเกศองค์พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณในลำดับต่อไป นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้รับพระราชานุญาตให้จัดสร้างพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณจำลอง ขนาดหน้าตัก 16 นิ้ว และ 9 นิ้ว พร้อมทั้งเหรียญพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ซึ่งออกแบบโดย นายโสภิศ พุทธรักษ์ ประติมากรชำนาญการ จากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เพื่อเป็นของสมนาคุณแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสนับสนุนกองทุนของมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลฯอีกด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ที่ปรึกษาโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ กล่าวถึง “พระพุทธมหาลาภ” ซึ่งนำมาเป็นต้นแบบของการจัดสร้าง “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” เป็นพระพุทธรูปโบราณทรงเครื่องแบบกษัตริย์ พระหัตถ์ขวายกเหนือพระหัตถ์ซ้ายซึ่งวางหงายบนพระเพลา (ตัก) โดยมีวัตถุคล้ายผะอบ (ยา) วางบนพระหัตถ์ พระพุทธรูปดังกล่าวมีชื่อว่า พระไภษัชยคุรุ ในนิกายมหายาน หมายถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งการแพทย์และยารักษาโรค มีความเชื่อกันว่า ผู้ศรัทธาบูชาจะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับ “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” ที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะจัดสร้างขึ้นนั้น ได้รับการออกแบบจากศิลปินช่างปั้นให้มีผลไม้ทิพย์วางบนพระหัตถ์ซ้าย พระไภษัชยคุรุ นิยมนับถือกันมากในประเทศจีนและธิเบต ในฐานะเป็น “พระพุทธเจ้าแพทย์” เนื่องจากเมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงตั้งปณิธานว่า เมื่อพระองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณแล้ว เหล่าสัตว์ที่ทนทุกทรมานด้วยโรคภัยใดใด หากได้ยินพระนามของพระองค์ จะพ้นจากโรคภัยทั้งหลาย มีร่างกายสมบูรณ์ ประกอบด้วยสติปัญญา มีทรัพย์มหาศาล และจะบรรลุโพธิญาณในที่สุด เชื่อกันว่าผู้เจ็บป่วยด้วยโรคทางกายและทางใจ สามารถพ้นจากโรคภัยได้ ด้วยการถวายเครื่องบูชาและการตั้งจิตรำลึกแน่วแน่ในพระนามของพระองค์ รองศาสตราจารย์ นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ประธานดำเนินงานโครงการฯ กล่าวว่า เนื่องในวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2563 จะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหิดลขอเชิญชวนทุกภาคส่วนและประชาชนชาวไทยร่วมใจถวายสดุดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่พระองค์จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 65 พรรษา โดยจะมีพิธีเททองหล่อองค์พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณและพิธีวางศิลาฤกษ์หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณ สมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ณ มณฑลพิธีหน้าหอประชุมบุญศิริ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เวลา 9.00 น.จนถึง 12.00 น. ประกอบพิธีบวงสรวงโดย โหรหลวงฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหร พรามหณ์ กองงานพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ในพิธีดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯพระราชทานผ้าไตรเพื่อถวายคณะสงฆ์ที่มาประกอบพิธีซึ่งล้วนแต่เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เปี่ยมด้วยเมตตาและเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนชาวไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นเจ้าภาพเททองหล่อพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ด้วยการทำบุญจารึกชื่อลงบนแผ่นทองชนวนซึ่งจัดทำขึ้นพิเศษสำหรับพิธีนี้เป็นการเฉพาะ แผ่นละ 100 บาท หรือสามารถร่วมทำบุญตามกำลังศรัทธา โดยท่านที่บริจาคตั้งแต่ 300,000 บาทขึ้นไป จะได้รับการสลักชื่อบริเวณหอพระ และมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลขอมอบพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณจำลอง ขนาด 9 นิ้ว 1 องค์ (เพียง 28 องค์เท่านั้น) บริจาคตั้งแต่ 200,000บาท ขึ้นไป รับมอบ “ชุดเหรียญพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” 1 ชุด ประกอบด้วย เหรียญทองคำ 95 เปอร์เซ็นต์  เหรียญเงิน  และเหรียญทองคำ 45 เปอร์เซ็นต์ (จัดสร้างเพียง 65 ชุด เท่านั้น) บริจาค 65,000 บาท รับมอบเหรียญพระฯ (เนื้อทองคำ ขนาดใหญ่) 1 เหรียญ บริจาค 36,500บาท รับมอบเหรียญพระฯ (เนื้อทองคำ ขนาดกลาง) 1 เหรียญ บริจาค 2,650 บาท รับมอบเหรียญพระฯ (เนื้อเงิน) 1 เหรียญ และบริจาค 300 บาท รับเหรียญพระฯ (เนื้อทองแดง) 1 เหรียญ ใบเสร็จรับเงินบริจาคสามารถนำลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ เพื่อเงินบริจาคไปจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 65 พรรษา จัดตั้งกองทุนทำนุบำรุงพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ และลานปฏิบัติธรรมบริเวณโดยรอบหอพระ ให้เป็นสถานที่สำคัญคงอยู่ยั่งยืนตลอดไป และเพื่อสนับสนุนการศึกษาพัฒนาวิชาการ และส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสู่ปณิธานในการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ต่อไป ผู้สนใจสามารถติดต่อร่วมเป็นเจ้าภาพทำบุญจารึกชื่อแผ่นทองชนวนหรือร่วมบริจาคได้ที่ มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โทร. 02-849-6359, 02-849-6111 หรือติดต่อที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน คุณนวลน้อย บุญชูส่ง โทร.091-010-3130