กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเวทีเสวนานำผู้เกี่ยวข้อง รับทราบแนวทางมาตรฐานการเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติตามหลักวิชากร ป้องกันการปนเปื้อนชั้นน้ำบาดาลและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานการประชุม เปิดเผยว่าจากการที่ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ลดลง ทำให้ปริมาณการซึมของน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลน้อยลง เมื่อไม่มีต้นไม้คอยดูดขับชะลอการไหลของน้ำทำให้น้ำไหลลงสู่แหล่งน้ำผิวดิน แม่น้ำลำคลองอย่างรวดเร็ว ปริมาณการเพิ่มเติมน้ำสู่ชั้นน้ำบาดาลจึงน้อยลง เป็นหนึ่งในปัญหาภาวะภัยแล้งของประเทศไทย ประกอบกับการยายตัวทางเศรษฐกิจ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดแนวทางแก้ไขด้วยวิธีการเติมน้ำใต้ดิน หมายถึง นำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาล เป็นการช่วยธรรมชาติฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งจะเพิ่มความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ “การเสวนา การเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัด, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด กลุ่มผู้ใช้น้ำจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 1,000 คน มารับทราบนโยบายแนวทางมาตรฐานการเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทย และพร้อมส่งมอบ เกณฑ์และแนวทางการเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทย ให้กับ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงกลาโหม,, กองทัพบก, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันการศึกษา จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเติมน้ำใต้ดินต่อไป นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าว ด้าน นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนมีความเชื่อว่าการทำธนาคารน้ำใต้ดินสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้ โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ขัดได้ว่า แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จริง ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการติดตามประเมินผล การเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นบทสรุปทำความเข้าใจและให้การยอมรับในหลักเกณฑ์แนวทางรวมทั้งประเมินผลกระทบและการบริหารจัดการในระยะยาว