ชักแถวขบวนพาเหรดฟุตบอลจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 คึกคัก สร้างสีสัน ใช้แนวคิด Make a CHANGE รักษ์โลก “เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” ดึงเยาวชนมีส่วนร่วมขบวนการ Waste This Way ลดขยะพลาสติก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ สร้างไวรัลสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมสู่สังคม GC ร่วมเป็นหนึ่งในการบริหารจัดการขยะภายในงาน นำไปรีไซเคิลเป็นรองเท้ากีฬาส่งมอบเยาวชนที่ขาดแคลน
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 63 ที่สนามศุภชลาศัย ได้มีการจัดงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากภาคสังคมในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในการจัดขบวนพาเหรดที่สะท้อนแนวคิดเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้เกิดการรับรู้และเกิดการตื่นตัวจากภาคประชาชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องแนวคิดการจัดงาน ขบวนพาเหรด และการแข่งขันฟุตบอลประเพณีภายใต้แนวคิด “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” เพื่อแสดงถึงความพร้อมและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ในการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ จากตัวเราเอง ไปสู่ความร่วมมือระหว่างสองสถาบันเพื่อเป็นพลังสำคัญปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทำง่ายและทำได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน
สำหรับงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ปีนี้เป็นความร่วมมือของสองสถาบันชั้นนำในการนำแคมเปญ Waste This Way: ร่วมกันรักษ์โลกให้ถูกทาง ในการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรผ่านแนวคิด “ลด เปลี่ยน แยก” โดยมีบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ร่วมสนับสนุนให้เกิดขบวนการสร้างองค์ความรู้ผ่านคนรุ่นใหม่ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกด้วยแนวคิดเซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง (Circular Living) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่ามาใช้ในกิจกรรมด้วยการให้คำแนะนำเรื่องการออกแบบกิจกรรมจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ และสนับสนุนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพที่มีฉลาก GC Compostable ที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพลาสติกใช้แล้วผ่านขบวนการอัพไซคลิ่ง แปรรูปเป็นเสื้อ ถุงยังชีพ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือ GC กล่าวว่า งานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้ GC ได้รับเกียรติเข้ามามีส่วนร่วมการจัดงานในแคมเปญ Waste This Way: ร่วมกันรักษ์โลกให้ถูกทาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำแนวทาง “ลด เปลี่ยน แยก” ภายใต้แนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการนำขยะพลาสติกไปสู่การรีไซเคิลที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและมีคุณภาพที่สูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเห็นได้จากภายในงานมีการเน้นการนำภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นไบโอพลาสติกทางธรรมชาติย่อยสลายได้มาใช้ พร้อมกับการนำขยะพลาสติกที่รวบรวมได้ตลอดทั้งงานเข้าสู่ขบวนการอัพไซเคิล เพื่อนำไปผลิตเป็นรองเท้ากีฬามอบให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนได้มีโอกาสเล่นกีฬา ถือว่างานนี้ได้รับความร่วมมือจากนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันที่จะนำแนวคิดและวิธีการต่างๆ ไปถ่ายทอดให้กับสังคมเพื่อจุดประกายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและสามารถนำไปสร้างประโยชน์และนำกลับมาให้ใหม่ได้ ทั้งการรีไซเคิลและอัพไซเคิล ผ่านการบริหารจัดคัดแยกขยะ ซึ่งจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการลดปัญหาการให้ภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งหรือ single-use
อย่างไรก็ตามภายหลังจากการจัดการ จะมีการวบรวมตัวเลขและปริมาณขยะพลาสติกภายในงานเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวัดผลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรมของสถาบันอื่นๆในอนาคต
นอกจากนี้ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 มีขบวนสะท้อนสังคม จากจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ด้วยขบวนสิ่งแวดล้อม เป็นรูปโลกแห่งขยะ ขบวนผลกระทบสะท้อนถึงสิ่งมีชีวิต ขบวนสื่อ ขบวนคนชั่วต้องถูกประณาม ขบวนสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน พร้อมรูปสิงโต ซึ่งถือเป็นเจ้าป่ายื่นคืนมงกุฎ เป็นการสะท้อนถึงการยื่นคืนอำนาจแบบเผด็จการให้กับประชาชนแล้ว ตามมาด้วยขบวนปัญหาสังคม
จากนั้นขบวนล้อการเมือง จากกลุ่มอิสระ ที่มีสโลแกนว่า ล้อเลียนหยอก บอกเล่า เล่าความคิด การณ์นี้สิทธิ แสเสียง ไร้ความหมาย เมืองไทย บอก มีประชาธิป “ตาย” 74 บอล ล่วงไป ไร้เปลี่ยนแปลง โดยเข้าสู่สนามด้วยขบวนอนุสาวรีย์ประชาธิป “ตาย” หุ่นตัวแรก เป็นหุ่นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ปลายยอดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกำลังมีภัย เพราะกลุ่มคนสีเขียวกระผลักเอียงกะเท่เร่หมายจะล้มให้จมดิน กำลังอำนาจที่มิชอบนั้นคงบรรลุความประสงค์ได้ดังใจหมายหากไม่มีประชาชนเป็นคนค้ำยัน ร่วมใจดันอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยให้กลับมามั่นคงตั้งตระหง่าน
ต่อด้วยขบวนบอดแหก ที่มีหุ่นคนกำลังสูดอากาศ สะท้อนถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 สร้างผลกระทบต่อทุกคน หากแต่ผลกระทบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเสมอหน้า คนทำงานในห้องแอร์ที่มีเครื่องฟอกอากาศย่อมได้รับผลไม่เท่าคนหาเช้ากินค่ำที่ทำงานตามท้องถนน อย่างคนงานก่อสร้าง คนเก็บขยะ หรือคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาอยู่แล้ว ถึงคราวเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นอีกทาง ตามด้วยขบวนมีดเทื่อปลาย อนิจจา เลือกฆ่าคน เป็นหุ่นจำลองคุก ที่มีคนสองคน(คนกับรวย)อยู่ในคุกเดียวกันและมีดที่พร้อมฟันมาที่คนยากจน จึงถามถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีอยู่ในสังคม
และขบวนสุดท้ายเป็นขบวน “พรรคเป็นพิษ” ที่มีหุ่นคุณหมอใส่เสื้อสูทเป่าปี่เรียกงูเห่า สะท้อนถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบัน ว่าด้วยเรื่องของพรรคการเมืองหนึ่งที่มีส.ส.บางกลุ่มในพรรคกระทำการขัดต่อมติพรรค และต่อมาได้มีมติขับส.ส.กลุ่มดังกล่าวออกจากพรรคนั้น คำว่า “งูเห่า” ในที่นี้อาจหมายความถึงอุดมการณ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นประชาธิปไตย การเบียดขับผู้คิดต่างให้เป็นขั้วตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพรรคที่ใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นจุดขาย หากผู้สนับสนุนพรรคเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ย่อมหมายความถึงการละทิ้งซึ่งรากฐานของอุดมการณ์ประชาธิปไตย กลายเป็น “งูเห่า” ที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตยเฉกเช่นเดียวกัน