ในสังคมไทย “อาชีพ” คือการใช้ความสามารถ ความถนัดของแต่ละบุคคลประกอบธุรกิจ การทำงาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง อาชีพถือเป็นการแบ่งหน้าที่การทำงานของคนในสังคม เพื่อให้สามารถดำรงอาชีพในสังคมได้อย่างมีศักยภาพ ปัจจุบันแต่ละอาชีพ จำเป็นต้องใช้ความสามารถและทักษะด้านอาชีพที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น งานทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การก่อสร้าง หรือแม้แต่การค้าขายและให้บริการ อาชีพเหล่านี้ล้วนเป็นการพึ่งพาตัวเองเพื่อที่จะนำรายได้ไปใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและสร้างมาตรฐานที่ดีให้แก่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ “อาชีพไม่เพียงแต่เป็นการสร้างรายได้ แต่การมีอาชีพคือการสร้างคุณค่าให้กับตนเอง” อีกทั้งการมีอาชีพยังเป็นการทำให้บุคคลมีความภาคภูมิใจและมั่นใจในการยืนหยัดในสังคม แม้แต่ผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพที่ไม่สามารถประกอบอาชีพทั่วไปได้ คนกลุ่มนี้ก็ยัง มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ในอาชีพและสามารถสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ ซึ่งหากเราไม่เห็นด้วยตาตนเอง คงไม่มีใครเชื่อว่า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้เหล่านี้ ได้ถูกรังสรรค์จากผู้พิการทางสายตาที่ได้รับการฝึกทักษะด้านอาชีพจากศูนย์ฝึกพัฒนาอาชีพคนตาบอด ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์” เป็นสถานที่ฝึกอาชีพสำหรับผู้ที่พิการทางสายตา ซึ่งอาชีพหลักของพวกเขาคือ “อาชีพช่างไม้” พวกเขาทำงานร่วมกับเครื่องจักรที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก สำหรับคนที่มองไม่เห็นแล้ว ถือเป็นเรื่องยากที่จะประดิษฐ์ชิ้นงานออกมาให้สวยงามได้ แต่ที่ศูนย์พัฒนาอาชีพฯ แห่งนี้มุ่งช่วยผู้พิการทางสายตาให้มีอาชีพ มีการฟื้นฟูพัฒนาสมรรถภาพให้กับผู้พิการทางสายตา ทำให้ชิ้นงานออกมาสวยงาม นอกจากนี้พวกเขายังประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำด้วยไม้ และยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ โต๊ะสนาม ตู้เสื้อผ้า เตียงนวดแผนไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำจากไม้เนื้อแข็ง สามารถเคลื่อนย้ายได้ เป็นผลงานจากผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาแต่ได้รับการฝึกฝนอบรมทักษะจนชำนาญจากศูนย์ฝึก และสามารถผลิตสินค้าออกจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดฯ เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้พิการทางสายตาทุกเชื้อชาติ พร้อมให้ความรู้และทักษะในการพัฒนาอาชีพเพื่อที่ผู้พิการจะสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดฯ” ได้พัฒนางานด้านการฝึกทักษะด้านอาชีพ รวมทั้งการอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรมให้กับผู้พิการทางสายตาได้ฝึกประสบการณ์ในการทำงานด้วยตนเองและได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สามารถส่งออกขายให้กับตลาดและบริษัทอื่น ๆ ที่สนใจในงานเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย การให้ความช่วยเหลือผู้พิการทุพพลภาพหรือผู้พิการทางสายตานั้นมีหลายทาง แต่การให้ “โอกาส” เป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโอกาสด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ รวมถึงการมีสิทธิเท่าเทียมคนปกติ ผู้พิการทางสายตาเพียงแต่อยากให้สังคมมีความเข้าใจ คนตาพิการถึงจะมองไม่เห็นแต่ก็สามารถทำงาน ประกอบอาชีพ และดำรงชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้ พวกเขาแค่ต้องการคำแนะนำช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับกิจกรรม “ปันกาวใจ ส่งเสริมอาชีพผู้พิการทางสายตา” ในครั้งนี้ “SELIC” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกาวอุตสาหกรรม ขอร่วมเป็นหนึ่งในผู้ให้ “โอกาส” โดยมอบกาวน้ำแก่ "ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์” จังหวัดนนทบุรี เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตา ได้ประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อว่ายังมีหลายองค์กรที่เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญในการหยิบยื่นโอกาสให้พวกเขา พร้อมสนับสนุนอาชีพช่างไม้ และผลิตภัณฑ์ของพวกเขาให้เกิดเป็นรายได้ ถึงพูดได้ว่า “เป็นคนตาบอด แต่หัวใจไม่เคยบอด” ผลงานทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าทางจิตใจ สามารถส่งต่อให้กับผู้อื่นและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมปันกาว จะเป็นกาวใจที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและจุดพลังของเหล่าผู้พิการทางสายตาให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ และผลิตชิ้นงานสร้างอาชีพได้ในอนาคต เสริมสร้างให้สังคมรู้จักการแบ่งปัน