“โรคปอดบวม” ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นใหม่ ถือเป็นเพชฌฆาตเงียบตัวจริงที่คร่าชีวิตของคนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยนั้น มีข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมแล้ว 96,084 ราย เสียชีวิต 79 ราย กลุ่มที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงราย อุบลราชธานี ขอนแก่น น่าน ศรีสะเกษ รู้จักโรคปอดบวมกันอีกนิด แพทย์หญิงสุมิตรา อวิรุทธ์นันท์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านทารกแรกเกิดและปริกำเนิด แพทย์ประจำโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลว่า โรคปอดบวม ในทางภาษาแพทย์เรียกว่า นิวโมเนีย (pneumonia) มีทั้งติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ แต่ส่วนมากที่พบบ่อยคือ ปอดบวมจากการติดเชื้อ ซึ่งจะมีทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส โดยจะพบเชื้อไวรัสมากกว่า ส่วนปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “สเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี” (Streptococcus Pneumoniae) เป็นแบคทีเรียตัวร้าย นอกจากทำให้เกิดโรคปอดบวมในวัยเด็กแล้ว ยังทำให้เกิดโรคอื่นตามมาได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในหูชั้นกลาง ทั้งนี้หากมีการติดเชื้อรุนแรงจากเชื้อสเตรปโตคอคคัส จะเรียกว่าเป็นกลุ่มโรคไอพีดี ซึ่งย่อมาจากคำว่า Invasive Pneumococcal Disease (IPD) นั่นเอง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวและคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ ยังมีผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางปอด โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ง่ายเช่นกัน วิธีสังเกตอาการของโรค ในช่วงเริ่มแรก อาการจะคล้ายเป็นไข้หวัดทั่วไป โดยจะมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีไข้ แต่หากเชื้อเริ่มลงปอดแล้ว ไข้จะสูง 39-40 องศาเซลเซียส มีอาการไอมาก หอบเหนื่อย หายใจเร็ว หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดัง หายใจกระแทก หายใจหอบ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที แนวทางในการรักษา แพทย์จะทำการตรวจและฟังเสียงหลอดลม หากไม่ติดเชื้อรุนแรง สามารถรักษาโดยการพ่นยา หรือรับยาไปรับประทาน แต่หากติดเชื้อรุนแรง จะต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อพ่นยา รับยาฆ่าเชื้อ และให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด เมื่อเกิดอาการเบื้องต้น ควรรีบรักษาอย่านิ่งนอนใจรอจนอาการลุกลามหนัก ซึ่งเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ การป้องกันตนเองจากโรคปอดบวม วิธีการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคปอดบวม ควรเริ่มตั้งแต่การปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดีด้วยการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หากไอหรือจามต้องปิดปากปิดจมูก เมื่อไอหรือจามแล้วควรล้างมือให้สะอาด เนื่องจากเชื้อเหล่านี้จะแพร่กระจายทางสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย ในกลุ่มเด็กเล็กและอยู่ในวัยเรียนหากติดเชื้อแล้วควรงดไปโรงเรียน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ ฉีดวัคซีนจำเป็นหรือไม่ นอกจากนี้ วิธีการป้องกันอีกอย่างหนึ่งคือ การได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย หรือ วัคซีนไอพีดี (IPD) โดยวัคซีนนี้ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในวัคซีนฟรีของรัฐบาล สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปี และทุกกลุ่มอายุ ซึ่งวัคซีนนี้นอกจากจะป้องกันโรคปอดบวมแล้ว ยังป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมไปถึงโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วย ปัจจุบันมีทั้งวัคซีน 10 สายพันธุ์ และวัคซีน 13 สายพันธุ์ สามารถป้องกันโรคปอดบวมได้ทั้ง 2 แบบ โดยในวัคซีน 13 สายพันธุ์จะมีความครอบคลุมมากกว่า หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปอดบวม หรือเรื่องสุขภาพอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร และโรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และสามารถติดตามสาระดี ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก:Principal Healthcare Company