แผ่นดินไหวที่ไซยะบุรี ระทึกสะดุ้งกันทั้งเมืองหนองคาย ชาวบ้านตั้งคำถามเขื่อนไซยะบุรีมีแผนป้องกันคนท้ายเขื่อนอย่างไร หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงกว่านี้ วันที่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 06.50 น. หน่วยงานเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของสหรัฐฯ รายงานว่าเกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.1 ที่แขวงไซยะบุรี ของ สปป.ลาว ใกล้ชายแดนประเทศไทย โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ความลึก 10 กม. ห่างจาก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ของไทย ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 31 กม. ในเบื้องต้น ยูเอสจีเอส ระบุว่า แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสามารถรับรู้ได้ในหลายประเทศ รวมทั้งที่เมียนมา จีน และไทย โดยสำหรับประเทศไทยจะรู้สึกได้มากในภาคเหนือและอีสาน อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ อนึ่ง นี่เป็นแผ่นดินไหวลูกที่ 3 ที่เกิดขึ้นในลาวในช่วงเช้ามืดวันนี้ ต่อจากแผ่นดินไหวระดับ 5.7 และ 4.6 ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วง 4:03-4:19 น. โดยสำนักงานเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของไทย ประเมินความรุนแรงของแผ่นดินไหวลูกล่าสุดไว้ที่ 6.4 จุดศูนย์กลางลึกเพียง 3 กม. ห่างจาก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ประมาณ 20 กม. สำหรับที่จังหวัดหนองคายในสื่อสังคมออนไลน์มีการโพสต์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งแชร์ข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายในพื้นที่จังหวัดหนองคาย รวมทั้งตั้งคำถามว่าหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แผนเผชิญเหตุสิ่งแวดล้อมฉุกเฉิน มีหรือไม่ และ เขื่อนนี้มี แผน EERP หรือไม่ และถ้ามีช่วยเอามาเผยแพร่ให้คนท้ายเขื่อนรับรู้ เพราะหากเกิดอะไรขึ้นคนท้ายเขื่อนคือคนที่จะรับกรรม ไม่ใช่นักสร้างเขื่อน ทั้งนี้ในเพจเป็นเรื่อง เป็นลาว ได้โพสต์ภาพความเสียหายของวัดและบ้านเรือนประชาชนจากการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ สำหรับจุดที่เกิดแผ่นดินไหว ห่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากเขื่อนไซยะบุรี 60 กิโลเมตร สำหรับเขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนที่สร้างบนรอยเลื่อนกลุ่มรอยเลื่อนไซยะบุรี ซึ่งกลุ่มรอยเลื่อนนี้อันตรายที่สุด เพราะเป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่เชื่อมต่อกับรอยเลื่อนเดียนเบียนฟู และรอยเลื่อนแม่น้ำแดงที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศจีน รอยเลื่อนแห่งนี้ยังเชื่อมต่อกับกลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ในประเทศไทยที่นักธรณีวิทยาของไทยระบุว่า "ต้องจับตา" ที่ตั้งของเขื่อนไซยะบุรีตั้งบนรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่ยังมีชีวิต (active fault) ขณะที่รอบๆ เขื่อนไซยะบุรี มีรอยเลื่อนที่ยัง active ในรัศมี 200 กม. สำหรับประวัติแผ่นดินไหวที่ไซยะบุรีก็คือในปี 2011, ขนาด 5.4 เมกนิจูด 4.6 และ 3.9 (ขนาด 3.9 ห่างจากตัวเขื่อน 60 กม.) ในปี 2007 เกิดแผ่นดินไหวที่เขตไซยะบุรี ขนาด 6.7 เมื่อตอนเริ่มสร้างเขื่อน ดร.ปัญญา จารุศิริ จากจุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเตือน โอกาสร้อยละ 30 ที่จะเกิดแผ่นดินไหวระดับกลาง และร้อยละ 10 มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขนาด 7 ริกเตอร์ และไม่ควรเริ่มสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในขณะนี้ นอกจากเขื่อนไซยะบุรีจะทำอย่างไรไม่ให้ระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงพังพินาศดังที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว จำเป็นต้องมีแผนเผชิญเหตุสิ่งแวดล้อมฉุกเฉิน (environmental emergency response plan) ด้วย คำถามก็คือ เขื่อนนี้มี แผน EERP หรือไม่ และถ้ามีช่วยเอามาเผยแพร่ให้คนท้ายเขื่อนรับรู้ด้วยครับ เพราะหากเกิดอะไรขึ้นคนท้ายเขื่อนคือคนที่จะรับกรรม ไม่ใช่นักสร้างเขื่อน อ่านเพิ่มเติม https://siamrath.co.th/n/109901. ขอขอบคุณภาพประกอบข่าวจากเพจเป็นเรื่อง เป็นลาว ภัทรวินทร์ ลีปาน หนองคาย