การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในประเทศไทยให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติได้จำเป็นต้องอาศัย “ระบบนิเวศ หรือ EcoSystem” ที่เหมาะสมเพื่อสร้างบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ รวมทั้งการมีศูนย์ทดสอบมาตรฐานทางภาครัฐในให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอวกาศสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามมาตรฐานในระดับสากลเทียบเท่านานาประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศหรือ National Quality Infrastructure ด้วยเหตุนี้ จิสด้าจึงได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการ GALAXI (Gistda’s Aerospace LAbolatary of eXcellence) and Innovation หรือห้องปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรม การบินและอวกาศ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานของจิสด้าในการวิจัย พัฒนาด้านนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ โดยเน้นด้านวัสดุและโครงสร้าง ตั้งแต่ด้านการออกแบบ การผลิต และการวิเคราะห์ทดสอบ โดยมุ่งหวังให้ห้องปฏิบัติการ GALAXI เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ และเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรให้แก่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศแก่ประเทศไทย รวมทั้งเป็นศูนย์วิเคราะห์ทดสอบที่ได้รับรองมาตรฐานระดับสากล ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมอวกาศและหัวหน้าห้องปฏิบัติการ GALAXI ของจิสด้า กล่าวว่า การทำงานของห้องปฏิบัตินี้ว่า “หน้าที่ของเรามีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง ข้อแรก เราทำหน้าที่วิจัย พัฒนา และนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ เช่น การออกแบบ การสร้าง prototype ชิ้นงานต้นแบบต่างๆ ให้มีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ ข้อสอง ในฐานะที่เราเป็นห้องปฏิบัติการ เรามีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้สร้างประโยชน์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ เรามี Know-How เฉพาะทาง เราจึงจัดการอบรม Training สัมมนา เวิร์กช้อปให้แก่ผู้ประกอบการ หรือนิสิตนักศึกษาที่เรียนด้าน Space Engineering เราเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มาฝึกงาน อีกทั้งจัดหลักสูตรเฉพาะกิจให้แก่ผู้ประกอบการที่มีวัตถุประสงค์มาเรียนรู้ด้านเทคนิควิศวกรรมด้าน aerospace และด้านที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งโดยผู้เชี่ยวชาญของเราเองหรือจากต่างประเทศ และข้อสาม เราเป็นศูนย์ทดสอบที่ให้บริการทดสอบวัสดุ โครงสร้างอากาศยานต่างๆ เราจึงมุ่งเน้นด้านการเป็นศูนย์ทดสอบที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการทดสอบมาตรฐานของชิ้นงานให้ได้มาตรฐานตามที่สากลกำหนด และต้องส่งชิ้นงานไปทดสอบที่ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นศูนย์ทดสอบของเราจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในการส่งชิ้นส่วนไปทดสอบที่ต่างประเทศได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการทดสอบลงได้อีกด้วย ซึ่งตอนนี้ห้องแลปเราก็ได้การรับรองมาตรฐานมาแล้วสองมาตรฐาน และปีนี่เราก็ได้เพิ่มมาอีกหนึ่งมาตรฐานจาก NADCAP ซึ่งจะทำให้เราเป็นศูนย์ทดสอบที่มีความเชื่อน่าถือ ได้มาตรฐานระดับสากล สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น” ก่อนหน้านี้ GALAXI ได้รับการรับรองมาตราฐานระดับสากลมาแล้ว 2 มาตรฐาน ได้แก่ AS9100D ซึ่งเป็น ระบบการจัดการคุณภาพ – ข้อกำหนดสำหรับองค์กรการบินและอวกาศ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ BOI พยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้รับเพื่อเข้า Aerospace Value Chain ห้องปฏิบัติการ GALAXI นับเป็นหน่วยงานรัฐหน่วยงานแรกและหน่วยงานเดียวที่ได้รับรองมาตรฐานนี้ และอีกมาตรฐานที่ได้รับการรับรองก่อนหน้านี้คือ ISO/IEC 17025 (Rev.2005) เป็นระบบมาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบระดับสากล และมาตรฐานล่าสุด NADCAP AC7122/1 ซึ่งเป็นมาตรฐานของผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ในขอบข่าย Non-Metallic Material Testing ซึ่งเป็นวัสดุหลักของโครงสร้างอากาศยานในปัจจุบัน โดยห้องปฏิบัติการ GALAXI ให้บริการการทดสอบฯ ในลักษณะห้องปฏิบัติการอิสระ หรือ Independent Laboratory ซึ่งนับเป็นห้องปฏิบัติการอิสระแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับรองมาตรฐานนี้ ดร.ณัฐวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า การที่ห้องปฏิบัติการ GALAXI ได้รับการรับรองมาตรฐาน NADCAP นับเป็นผลดีอย่างมากต่อประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศให้แก่ประเทศไทยให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบไทยได้พัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้นในฐานะผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน และพร้อมที่จะก้าวสู่ Aerospace value chain ในระดับโลกต่อไป