“เอมันนี่” ผนึกพันธมิตร “เทยินฯ” เปิดตัวโครงการซีเอสอาร์ “A money x Teijin บัดดี้ชวนส่งต่อขวด PET เปลี่ยนเป็นเสื้อให้น้อง” นำร่องผลิตเสื้อจากขวดน้ำพลาสติกใส 100 ตัว เพื่อส่งมอบให้กับน้องๆ เยาวชน พร้อมจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ นายยูจิ ฟุคาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการบัตรกดเงินสด “เอมันนี่” (A money) ภายใต้สโลแกน “A money บัดดี้เรื่องเงิน”เปิดเผยว่า บัตรกดเงินสด A money ร่วมกับบริษัท เทยิน โพลีเอสเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเส้นใยโพลีเอสเตอร์ชั้นนำในประเทศไทย จัดทำโครงการ “A money x Teijin บัดดี้ชวนส่งต่อขวด PET เปลี่ยนเป็นเสื้อให้น้อง” ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คนไทยให้ความสำคัญและใส่ใจกับการจัดการและคัดแยกขยะที่เป็นขวดน้ำพลาสติกใส หรือพีอีที (PET : Polyethylene Terephthalate) ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการรับบริจาคขวด PET ที่ใช้แล้ว ซึ่งขวดทั้งหมดจะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพื่อผลิตเป็นเสื้อยืด โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าว บริษัทจะเป็นผู้รวบรวมขวดพลาสติกด้วยการเปิดรับขวดน้ำดื่ม PET ผ่านกล่องรับบริจาคที่สำนักงานใหญ่ของ A money และสาขาอีก 11 แห่งประกอบด้วย เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2,เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต,บิ๊กซี สุขสวัสดิ์,เดอะมอลล์ ท่าพระ,เดอะมอลล์ บางแค,เดอะมอลล์ บางกะปิ,เซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่ พลาซ่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ,ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต,เทสโก้ โลตัส มหาชัย,ซีคอนสแควร์ และอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง สำหรับหลังจากนั้นจะส่งมอบขวด PET ทั้งหมดให้บริษัทเทยินฯ นำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และผลิตเป็นเสื้อให้กับน้องๆ พร้อมจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี โดยตั้งเป้าส่งมอบขวด PETจำนวน 5,000 ใบเพื่อใช้ในการผลิตเสื้อสำหรับกิจกรรมนำร่องระหว่าง A money กับบริษัทเทยินฯในปีแรก100 ตัว “A money ได้ตั้งกล่องรับบริจาคขวด PET ตั้งแต่เดือนก.ค.62 หลังจากนั้นจะส่งมอบขวดให้กับบริษัทเทยินฯ เพื่อทำการผลิตเส้นใย และส่งเส้นใยเข้าสู่กระบวนการปั่นเป็นเส้นด้ายสำหรับใช้ในการผลิตเสื้อ จากนั้นจะปิดโครงการด้วยการจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีและสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มต่อได้ โดยจะทำการส่งมอบเสื้อให้เยาวชนในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองพันธกิจของ A money ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับสังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เยาวชน และสังคม” ด้านนายวีระชัย คริสต์วทัญญู ผู้จัดการฝ่ายขาย แผนกเส้นใยสั้นและวัสดุไม่ทอ บริษัท เทยิน โพลีเอสเตอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ขวดพลาสติกในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัท เทยินฯ ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นใยโพลีเอสเตอร์ชั้นนำของประเทศตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกดังกล่าวด้วยการนำขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพื่อใช้ในการผลิตเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋าผ้า เครื่องนอน เป็นต้น สำหรับขั้นตอนการรีไซเคิลขวด PET เป็นเกล็ดพลาสติก เริ่มจากการเทขวดลงสายพานลำเลียง คัดแยกขวดที่ยังไม่ได้ลอกฉลากและขวดที่สกปรก นำขวดเข้าเครื่องตรวจจับโลหะเพื่อคัดแยกโลหะปนเปื้อนออก หลังจากนั้นจะส่งขวดไปยังสายพานลำเลียงเพื่อเข้าเครื่องบด ล้างเกล็ดพลาสติกจากขวดที่บดแล้วและลำเลียงไปตามเครื่องส่งต่อด้วยการแยกเกล็ดพลาสติก PE (ส่วนฝาขวด)ออกจากเกล็ดพลาสติก PET จากนั้นนำเกล็ดพลาสติก PET เข้าเครื่องปั่นและเครื่องเป่าแห้ง คัดแยกสิ่งแปลกปลอมที่อาจปนมากับเกล็ดพลาสติก PET และจัดเตรียมไว้สำหรับการผลิตเส้นใย “เส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่มีประสิทธิภาพจะต้องผลิตจากขวด PET ที่ผ่านการคัดแยกอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้เส้นใยที่สะอาดและมีคุณภาพ โดยขั้นตอนการคัดแยกง่ายๆ เลยก็คือ หลังจากดื่มน้ำหมดให้นำฉลากขวดออก ถ้าเป็นขวดที่ฉลากทากาวจะต้องกรีดฉลากออก พร้อมกับนำฝาขวด หลอด และสิ่งที่อยู่ภายในขวดออกให้หมด หลังจากนั้นต้องล้างขวด ทำขวดให้แบน และแยกขวดออกจากขยะประเภทอื่น เพื่อให้การรีไซเคิลขวด PET มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี นอกจากจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยรีไซเคิลของประเทศไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้นอีกด้วย”