ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ฯ ตั้ง สทน. เป็นศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้าน Isotope Hydrology ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า ระหว่างการไปร่วมประชุมใหญ่สมัยสามัญ ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ International Atomic Energy หรือ IAEA ครั้งที่ 63 ระหว่างวันที่ 16 - 20 กันยายน 2562 ณ สำนักงานใหญ่ IAEA กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สทน. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูฯ ในการแต่งตั้งให้ สทน. เป็นศูนย์ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency Collaborating Centre) ด้าน Isotope Hydrology ซึ่งการเป็นศูนย์ความร่วมมือของทบวงการพลังงานปรมาณู ฯ สทน. จะสามารถสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลทางด้านไอโซโทปของประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศอย่างยั่งยืน พัฒนาห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานการยอมรับในระดับสากล และพัฒนาบุคลากรทางด้านทรัพยากรน้ำให้มีความรู้ และความเข้าใจในการนำเทคนิคทางด้านไอโซโทปไปประยุกต์ใช้ในการปรับเทียบแบบจำลอง หรือนำไปใช้ในการแปรความหมายร่วมกับเทคนิคอื่นเพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้โดยตรง สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ และในต่างประเทศ เช่น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบายใช้น้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านปริมาณน้ำบาดาลของประเทศและการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ ส่วนประเทศสมาชิกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศก็สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปสนับสนุนการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในส่วนของรูปแบบการเกิดฝนในระดับท้องที่ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ร่วมกับข้อมูลจากประเทศสมาชิกความร่วมมือ โดยกิจกรรมหลักของการเป็นศูนย์ความร่วมมือฯ คือ การจัดสัมมนาเพื่อสร้างความตระหนักและเผยแพร่การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลให้แก่หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ โดย สทน. จะใช้งบประมาณจากแผนงานโครงการพัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลไอโซโทปของประเทศเพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นผลจากการหารือระหว่างไทยและผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (นายยูกิยะ อะมาโน) ในโอกาสการเยือนไทยตามคำเชิญของ สทน. ในการเป็นองค์ปาฐกในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2559