คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น เคยเขียนมาครั้งหนึ่งแล้ว ว่า คำว่า “ฉันทามติ” เป็นการพูดผิด เขียนผิด และเข้าใจผิด วันนี้ ขอเขียนซ้ำอีก (เผื่อจะได้ผล) จะเขียนเรื่องอื่นเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง ก็ลำบากใจ เพราะจะไปกระทบทางการเมืองเขา ที่ยังไม่เป็นปกติสุขอยู่ “ฉันทามติ” เห็นเขียนไว้บนเวทีการสัมมนาทางการเมืองที่เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงว่า คำนี้ จะผิดกันไปใหญ่ และในที่สุด ก็จะใช้กันทั่วไป อาจจะใช้บนเวทีในวงการศึกษาก็เป็นได้ คำว่า ฉันทามติ น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะเคยได้ยินคำว่า “ฉันทานุมติ” นั่นแหละ หรือไม่ก็เพราะเห็นคำว่า “ฉันทาคติ-โทสาคติ-ภยาคติ-โมหาคติ” นั่นกระมัง? ฉันทาคติ-โทสาคติ-ภยาคติ-โมหาคติ หมายถึง “อคติ” 4 อย่าง ในคำสั่งสอนทางพุทธศาสนา คำเหล่านี้ เป็นคำสมาส มาจากคำว่า “ฉันทะ+อคติ” - “โทสะ+อคติ” - “ภย+อคติ” และ “โมหะ+อคติ” คือ ที่เป็น ฉันทา-โทสา-ภยา และ โมหา เพราะ มี อ (ใน “อคติ”) ตามมา เช่นเดียวกับคำว่า “ฉันทานุมัติ” ฉันทานุมัติ ที่เป็น “ฉันทา” เพราะมี อ (ในคำว่า “อนุมัติ”) ตามมา เข้าใจว่า ผู้เขียนหรือผู้พูดคำว่า “ฉันทามติ” ก็เพื่อให้หมายความว่า “มีมติเห็นชอบร่วมกัน” แต่คำว่า “ฉันทามติ” กลับเป็น “ฉันทะ+อมติ” คือ ไม่มีความเห็นร่วมกัน เพราะ อ-มติ คือ น-มติ นั่นเอง “อ” เท่ากับ “ไม่” ในภาษาบาลี-สันสกฤต ได้ยินนักการเมืองพูดคำนี้บ่อยๆ ก็เลยเป็นห่วงว่าจะพาชาวบ้านพูดผิดกันไปใหญ่ ความหมายระหว่างคำว่า “ฉันทานุมัติ” กับ “ฉันทามติ” (ตามที่พูดกันผิดๆ) ก็มีความหมายต่างกันอยู่ดีในภาษาไทย ฉันทานุมัติ หมายถึง ตกลง,ยอมรับ หรือ อนุญาต (ตามที่ขอมา) อันที่จริง คำว่า “ฉันทาติ” ที่แปลว่า มีมติเห็นชอบร่วมกัน ที่ถูกต้องเขียนหรือพูดว่า “ฉันทามติ” เกรงว่า นานไป จะพูดคำว่า “ฉันทมติ” ไม่เป็น เพราะติดปากคำว่า “ฉันทามติ” ตามๆ กันแล้ว จึงขึ้นหัวเรื่องบทความวันนี้ ให้เห็นชัดๆ สักครั้งหนึ่งเผื่อว่าวงการคนใช้ภาษาไทยจะได้กลับตัวกลับใจได้ทัน (ไม่ทราบว่าจะเป็นผลบ้างหรือเปล่า?) ไหนๆ ก็ได้เขียนเรื่องภาษาไทยแล้ว ขอทราบความหมายของชื่อ “วัดไตรสิกขาทลามลตาราม” ของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ที่จังหวัดสกลนคร หน่อยเถิดครับ คำว่า “ทลามลตาราม” (ท้ายชื่อ “ไตรสิกขา”) นั้น อ่านก็ยาก แปลความหมายก็ยาก ได้พยายามติดตามฟังพระอาจารย์ท่านออกเสียงคำนี้และบอกความหมายของคำ ก็ไม่เคยได้ฟัง จะคิดแปลเองก็เกรางว่า คำว่า “ทลาม” เป็นชื่อเฉพาะอะไรสักอย่าง ก็เลยยังไม่กล้าคิดแปล(และอ่าน) แต่คำว่า “ทลาม” นั้น ก็ไม่เคยได้ยิน เมื่อวัดไตรสิกขาทลามลตาราม มีเรื่องกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ ทางการก็เห็นเรียกวัดนี้ว่า “วัดไตรสิกขาราม” ก็คิดว่า สมควรแล้วที่เขาจะเรียกอย่างนั้น เพราะเรียกชื่อเต็มของวัดลำบาก ตอนแรกก็นึกว่า ชื่อวัดนี้คงเขียนผิด แต่เมื่อเห็นป้ายชื่อวัด ก็แน่ใจว่าเป็น “วัดไตรสิกขาทลามลตาราม”จริงๆ และชื่อวัดในทะเบียนวันที่มหาเถรสมาคมรับรองไว้ ก็คงเป็น “วัดไตรสิกขาทลามลตาราม” นั่นแหละ ติดตามฟังอีกเรื่องหนึ่ง คือประวัติของพระอาจารย์สมภพ ก็ยังไม่มีอย่างสมบูรณ์ ฟังจากที่เขาอ่านไว้ก็ไม่ชัดเจน ยิ่งฟังจากหมอลำ ก็ยิ่งได้ฟังแต่เสียงเอื้อนเอ้อระเหยอยู่ แถมหมอลำยังเอาประวัติคนอื่นไปเข้าลำดับกันอีก ก็ยิ่งชวนให้เข้าใจผิดว่าพระอาจารย์สมภพเป็นพ่อหม้ายเมียทิ้งเสียอีก ที่อยากจะรู้ให้แน่คือ พระอาจารย์ท่านเป็นอัมพาตตั้งแต่ปีไหน ที่รู้แน่ๆ คือ ตอนขออุปสมบทที่วัดเนินพระเนาฯ ที่จังหวัดหนองคาย นั้น ท่านยังแข็งแรง มีสุขภาอนามัยเป็นปกติอยู่ และที่รู้แน่ๆ คือ พระอาจารย์สมภพสร้างวัด 2 วัด คือ “วัดนิพเพธพลาราม” และ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม” ซึ่งทั้งสองวัดนั้น อยู่ในตำบลแพด อ.คำตากล้า (จ.สกลนคร) โดยรู้จากคำเทศน์และคำบรรยายธรรมของท่านเอง ทั้งที่วัดนิพเพธฯ และที่วัดไตรสิกขาน่าเลื่อมใสอย่างหนึ่งคือไม่มีการตั้งตู้รับบริจาค โดยเฉพาะวัดนิพเพธฯ (วัดแรก) นั้นพระอาจารย์สร้างเอง ไม่ได้บอกบุญชาวบ้านเลย เหตุที่ต้องติดตามฟังพระอาจารย์สมภพเทศน์อยู่ขณะนี้ เพราะรู้สึกว่า ชาวพุทธมีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อเรื่องกรรม เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดที่เรียกว่า “สังสารวัฎฏ์” กันมากขึ้นทุกวัน แนวคำสอนธรรมะอย่างอนัตตา ก็ดีอยู่ มีคนสมัยใหม่มากมายที่นิยมคิดและพูดธรรมะแนวนั้น แต่ลืมไปว่า คำสอนในพระไตรปิฎกส่วนใหญ่เป็นเรื่องสังสารวัฎฏ์หรือความเชื่อในเรื่องการเวียนวายตายเกิดซึ่งเป็นไปตามกรรม (แบบพุทธ) พระอาจารย์สมภพมาปลุกให้คนหวนคิดทบทวนเรื่องกรรมที่พระพุทธเจ้าสอน โดยผ่านการปฏิบัติทางสมาธิ (สมาธิภาวนา) พร้อมกับคำอธิบายจากพระไตรปิฎกที่ชัดเจนและชวนติดตาม คำอธิบายของพระอาจารย์สมภพมักจะอิงเรื่องประกอบในพระไตรปิฎก ที่เคยคิดว่าเป็นเพียง “นิทาน” แต่เมื่อฟังไปๆ ก็ได้ความแจ่มแจ้งในธรรมะ มากกว่าวิธีตีความ พระอาจารย์สมภพเคยสงสัยเรื่องกรรม เมื่อท่านทำบุญทำกุฎิถวายวัด และประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ (มีคนตายกว่า 20 คน) ท่านต้องได้รับบาดเจ็บสาหัส รักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 41 วัน ต้องผ่าตัดม้ามทิ้ง ฯลฯ ทำให้ท่านสงสัยว่า ทำไปเมื่อทำบุญสร้างกุฏิอย่างนั้นผลบุญจึงกลายเป็นเคราะห์กรรม? ทำไม เมื่อก่อน กิน-เที่ยวสรรพัดอยู่กับอบายมุขเป็นประจำ จึงไม่เห็นเป็นไร เข้าทำนองว่า “ทำดีได้ดี มีที่ไหน...?” พระอาจารย์สมภพบอกว่า ไม่ได้คำตอบเป็นที่พอใจจากพระอาจารย์ใดๆ จึงคิดว่า บาป-บุญคงไม่มีจริง แต่มีคำตอบในพระไตรปิฎก กรรมนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนและยาวไกล กรรมบางอย่างให้ผลข้ามชาติหรือข้ามหลายๆชาติสุดแต่ว่าจะได้โอกาสเมื่อใด พระอาจารย์สมภพอ่านพระไตรปิฎกโดยตรงจึงเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง ยิ่งเมื่อท่านอ้างคำบาลีประกอบ (พร้อมคำแปลเสมอ) ก็ยิ่งทำให้เข้าใจชัดขึ้น ทำให้ผมเข้าใจอีกว่า เรื่องราวในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อย่าง “ธรรมบท” เป็นต้นนั้น ที่ท่านให้พระเณรเรียนในหลักสูตรบาลี แท้จริงแล้วก็เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาในพระไตรปิฎกนั่นเอง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในพระไตรปิฎก หาใช่เป็นนิทานแต่งขึ้นใหม่ไม่ เมื่อพระอาจารย์สมภพนำมาเล่าประกอบคำอธิบายธรรมะ ทำให้เข้าคำสอนได้ง่ายขึ้น แม้แต่เรื่องนั่งสมาธิ ก็ได้ความรู้จากท่านว่า การนั่งสมาธินั้นแขกและพม่าเรียกว่า “นั่งขัตตะหมาด” (คำว่า “สมาธิ” พม่าออกเสียงเป็น “ตะมาธิ”) เคยได้ยินคนไทยพูดว่า นั่งขัตตะหมาด ก็คือนั่งในท่าเข้าสมาธินั่นเอง จริงอย่างที่ท่านว่าและถือปฏิบัติอยู่ คือ การเจริญสมาธิ ตามที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ไม่มีการบริกรรมด้วยคำว่า “พุท-โธ” หรือ “สัมมา-อรหัง” ฯลฯ เพียงแต่ให้มีสติระลึกรู้ความยาว – สั้น ของลมหายใจเท่านั้น ทั้งนี้ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจละเอียดขึ้นตามลำดับเป็นสำคัญ เมื่อลมหายใจละเอียดจนเหมือนไม่มีการหายใจ นั่นคือการเข้าสู่สมาธิ บทสวดมนต์ต่างๆ ทำให้รู้ว่า เฉพาะบทสวดต่างๆ นั้นก็คัดมาจากพระไตรปิฎกเพื่อให้พระรู้คำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง พระอาจารย์สมภพมีปกตินิสัยอย่างหนึ่ง คือ เมื่อท่านอาพาธ (เจ็บป่วย) ท่านอยากอยู่คนเดียว ไม่ต้องการให้พระเณรอยู่ดูแลในห้องท่านบอกว่า ต้องการมรณภาพให้แซ่บๆ (พูดแบบอีสาน) หมายความว่าท่านพร้อมที่จะมรณภาพอยู่เสมอ ครั้งหนึ่ง ท่านอดอาหาร (ไม่ฉันอะไรเลย) เป็นเวลา 21 วันแต่ก็ยังร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น นั่งสมาธิ ทำวัตร บรรยายธรรมได้เป็นปกติ ทำให้นึกถึงพระพุทธเจ้า (ในพระไตรปิฎก) ที่เคยตรัสว่า เมื่อทรงบิณฑบาตไม่ได้อาหารเลย ก็ไม่ฉันอะไร ทรงเป็นอยู่ได้เป็นปกติด้วยปีติ คือมีปีติเป็นอาหาร (เช่นเดียวกับ อาภัสสรหรหมที่ร่างกายเป็น “ตัวแสง” ก็มีปีติเป็นอาหารนั่นแหละ) แสดงว่า สมาธิหรือฌานบางขั้น ซึ่งมีปีติสุขเป็นคุณลักษณะ สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ วันนี้ ต้องการจะเขียนเรื่องภาษา เพราะเห็นว่า พระอาจารย์สมภพตั้งชื่อวัดแปลกๆ (ทั้งอ่านยากและแปลยาก) ว่า “วัดไตรสิกขาทลาตาราม” นอกจากตั้งชื่อวัดแปลกๆ แล้ว ยังได้ยินท่านออกเสียงบางคำแปลกๆ คือ คำว่า “ทุ่ม” (บอกโมงยาม) ท่านออกเสียงว่า “ทุ้ม” เข้าใจว่า ติดมาจากเสียงของชาวภาคกลางบางจังหวัดผมเคยได้ยินข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งออกเสียงว่า “ทุ้ม” เช่นกัน ท่านผู้นั้นบอกว่า คนที่จังหวัดท่านมักจะออกเสียงอย่างนั้น ท่านก็เลยแก้ไม่ได้มักจะพูด “ทุ่ม” เป็น “ทุ้ม” อย่างนั้น ส่วนคำว่า “เหย้า” ที่พระอาจารย์สมภพออกเสียงเป็น “เย้า” และอีกบางคำที่ท่านออกเสียงเพี้ยนไป คงเป็นเพราะท่านเป็นคนอีสานนั่นแหละ ว่าก็ว่าเถอะ คำเทศน์และคำบรรยายธรรมของพระอาจารย์สมภพนั้น คงจะมีการ “ถอดเทป” เป็นหนังสือสักวันหนึ่ง จะมีประโยชน์อย่างยิ่งทั้งแก่พระเณรและสาธุชนทั่วไป โดยเฉพาะกาพย์กลอนอีสานและ “คำผญา”ที่ท่านจำได้มากมายนั้น น่าจะมีการรวบรวมไว้เป็นพิเศษ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อเข้าถึงด้วยการปฏิบัติ (สมาธภาวนา) ชนิดที่เรียกว่า “ปหิตัตตา” (มีตนอันส่งไปแล้ว,ทุ่มสุดตัว, มีใจ (เด็ดเดี่ยว) อย่างที่พระอาจารย์สมภพท่านเป็นอยู่ จะเห็น “ความจริง” หลายอย่าง ที่คนธรรมดานึกไม่ถึง