อีกโรคที่พบบ่อยมาก และอันตรายมาก กับ”โรคหลอดเลือดสมอง” ที่เรียกว่าหากชีวิตยังรอดได้ หลายคนชีวิตต้องพลิกแบบสุดขั้ว และยากจะทำใจ บ่อยครั้งที่เรามักจะพบเจอกับโรคนี้ ทั้งใกล้ตัว ไกลตัว และกระทั่งคนดังที่เรียกว่าอายุอานามก็ยังไม่มาก อย่าง ผู้กำกับคนเก่งและอดีตพระเอกดัง พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองอย่างคาดไม่ถึง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่าโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งของโรคทางระบบประสาท และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในอันดับต้นๆ ของประเทศ ถ้าหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีส่วนใหญ่ จะมีความพิการตามมา ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่
อาการเตือนสำคัญ คือ แขน ขาอ่อนแรงซีกเดียว สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง ตามองเห็นลดลง1หรือทั้ง2ข้าง มีปัญหาการเดิน มึนงง ซึ่งมักเกิดฉับพลัน ดังนั้น จึงต้องให้รีบมาพบแพทย์ด่วนที่สุดภายใน 3 ชั่วโมงครึ่ง จะรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด
ขณะที่การลดความเสี่ยงคือ รับประทานอาหารให้ครบ5หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักงดเครื่องดื่มมึนเมา เลี่ยงสูบบุหรี่ และตรวจสุขภาพประจำปี ด้านพญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เพิ่มเติมว่า ปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วยโรคนี้คือ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จำเป็นต้องรักษาหรือฟื้นฟูด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ร่างกายมีสภาพที่ดีขึ้นสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตควรทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้ป่วยและผู้ดูแลเพื่อการดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากเป็นการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือฉับพลันเพื่อลดความพิการหรือป้องกันความพิการให้ได้มากที่สุดสามารถใช้ชีวิตให้เป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การวินิจฉัยโรคว่าคนไข้อ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือไม่ หรือเป็นที่กล้ามเนื้อและกระดูก แพทย์จะซักประวัติและอาจเอกซเรย์สมองร่วมด้วย หากพบว่าเป็นจะส่งให้แพทย์ดูแลอาการให้สภาพคงที่ จากนั้นส่งไปยังศูนย์ฟื้นฟูเพื่อกายภาพบำบัดตามลำดับ ดังนั้น แนะว่าประชาชนควรมีความรู้เบื้อต้นในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและทราบถึงอาการเบื้องต้น เพื่อส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา จะยิ่งมีโอกาสสูงมากในการเยียวยาอาการให้ดีขึ้น เช่น ให้ยาละลายลิ่มเลือดในภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ รวมทั้งการดูแลที่เหมาะสมในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดในสมองแตกจะช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ตลอดจนลดอัตราเสียชีวิตได้