สทนช. ชวนทุกภาคส่วน ร่วมส่งองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการ นวัตกรรม และแนวปฏิบัติที่ดี ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรวบรวมและจัดทำเป็นทำเนียบองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ เตรียมขยายผลต่อยอดสู่การสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี และส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนอกจาก สทนช. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการสรรหาองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนมากที่สุดแล้ว ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ สทนช. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ของภาคประชาชนและเครือข่ายท้องถิ่นในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ลดความเสียหายที่เกิดจากน้ำตามศักยภาพและบริบทของแต่ละพื้นที่ สามารถช่วยให้การจัดสรรน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง ลดความขัดแย้งและปัญหาการแย่งชิงน้ำ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และเมื่อองค์ความรู้เหล่านั้นเกิดผลสำเร็จก็จะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และต่อยอดปรับประยุกต์ไปสู่การสร้างนวัตกรรมในระดับท้องถิ่นต่อไป เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและแนวปฏิบัติที่ดี ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีหลายเครือข่าย หลายชุมชน หลายองค์กร รวมถึงหลายสถาบันการศึกษาที่เป็นผู้สร้างองค์ความรู้เหล่านั้นขึ้นมา สทนช. เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น และแนวปฏิบัติที่ดีที่มีความหลากหลายเหล่านี้ จึงต้องการรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม และแนวปฏิบัติที่ดี ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของทุกชุมชนในประเทศ เพื่อนำมาจัดทำทำเนียบองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา นำพาน้ำยั่งยืน” โดยแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน “นอกจากจะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และนวัตกรรมด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องถิ่นที่หลากหลายแล้ว ยังนับเป็นโอกาสที่ดีที่ชุมชน เครือข่าย กลุ่มผู้ใช้น้ำ สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน จะได้สร้างเครือข่ายและพันธมิตรในระดับพื้นที่ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน รวมถึงการต่อยอด ขยายผล อันจะนำไปสู่การประสานความร่วมมือ จนเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับประเทศและระดับนานาชาติต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว สำหรับประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ เครือข่าย องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่สนใจ สามารถร่วมส่งองค์ความรู้ได้ตั้งแต่บัดนี้–10 กันยายน 2562 สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มหรือกรอกข้อมูลออนไลน์ได้ที่ www.onwr.go.th หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทรัพยากรน้ำ สทนช. เลขที่ 89/168-170 ถ.วิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. 08 6717 6677 หรือ 0 2521 9140-8 ต่อ 1102 โดยผลงานที่ได้รับคัดเลือกจะนำไปรวบรวมในทำเนียบองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานครบรอบ 2 ปี สทนช. ในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 เพื่อร่วมถอดบทเรียนและถ่ายทอดความสำเร็จสู่สาธารณชนต่อไป