เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 สิงหาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว เส้นทางตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองบ้านนารีสวัสดิ์ ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 400 คน มีความตื่นตัว โดยให้ความสนใจทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรมจนเต็มพื้นที่ห้องประชุม ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวคิดการออกแบบรูปแบบ แนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสมกับบริบทของชาวโคราช นายวิเชียร ฯ ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในเมืองโคราช ประชาชนควรให้ความสำคัญร่วมพิจารณารูปแบบรวมทั้งเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ทั้งรอบด้าน ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับลักษณะกายภาพของท้องถิ่นและไม่เกิดความขัดแย้งเห็นต่าง รฟม.นำเสนอรูปแบบเส้นทางระดับเดียวกับพื้นดินที่อาจมีปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง ทุกภาคส่วนต้องบริหารจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งผลกระทบต่อการเดินทางให้น้อยที่สุด นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฝ่ายกลยุทธ์และแผน เปิดเผยว่า สภาพการจราจรในเขตเมืองนครราชสีมา ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพรองรับอย่างเพียงพอ จึงมีความแออัดคับคั่ง โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ผลการศึกษาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพทั้งรวดเร็วและปลอดภัย ระบุรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด ประกอบกับกระทรวงคมนาคมเห็นพ้องตามผลการหารือร่วมกันระหว่าง สนข. รฟม. และที่ปรึกษาของ สนข. ระบุเส้นทางสายสีเขียว มีความสำคัญลำดับที่ 1 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ตลาดเซฟวันถึงสถานีคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทางประมาณ 11.17 กิโลเมตร ซึ่งมีสถานีจำนวน 20 แห่ง เช่นตลาดเซฟวัน สำนักคุมประพฤติ สวนภูมิรักษ์ เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ อย่างไรก็ตามขั้นตอนต่อไปบริษัทที่ปรึกษาจะลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย ซึ่งเป็นการชี้แจงข้อมูลและดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะตั้งแต่เริ่มต้นของการศึกษาและพัฒนาโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานช่วงที่ 1 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study) ออกแบบจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ที่อาจปรับปรุงเส้นทางและเพิ่มลดจำนวนสถานีกำหนดระยะเวลาประมาณ 1 ปี เบื้องต้นค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท และเพิ่ม 1 บาท ที่คิดจากจำนวนสถานีปลายทาง จากนั้นเป็นการคัดเลือกผู้รับจ้างในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินโครงการโดยประมาณการค่าดำเนินการกิโลเมตรละ 752 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 8,400 ล้านบาท สามารถดำเนินโครงการได้ช่วงปลายปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี ประมาณช่วงปลายปี 2568 ชาวเมืองโคราช ก็จะได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมในเมืองภูมิภาค โดยเชื่อมโยงโครงข่ายกับระบบขนส่งขนาดรองต่างๆ กับรถไฟทางคู่ รถไฟไทย-จีน รถโดยสารและระบบขนส่งสาธารณะได้เต็มรูปแบบ นายอัคคชา พรหมสูตร อดีตสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ความฝันของชาวโคราช หากโครงการเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะลดการใช้รถยนต์ที่สร้างมลพิษในอากาศ เส้นทางสีเขียว จะสมบูรณ์แบบและชาวโคราชจะได้ประโยชน์สูงสุด หากยายสถานีเริ่มจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานศึกษามัธยมชื่อดังประจำจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนนักเรียนกว่า 4 พันคันและสิ้นสุดที่ทางแยกจอหอที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากตำบลรอบนอกและอำเภอสำคัญ