ข่าวสุดอาลัยกับการจากไปของคุณชายสุดยอดนักชิมในตำนานครอบจักรวาล “ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์” ด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี
โรคมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยพบว่ามีอุบัติการณ์ที่สูงมากที่สุดในโลก โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นโรคมะเร็งติดอันดับท็อปไฟว์ของไทย คือมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี รวมทั้งชายยังมีความเสี่ยงสูงกว่าหญิง
สำหรับรายละเอียดของโรคมะเร็งท่อน้ำดี อ.นพ.ประวัฒน์ โฆสิตะมงคล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้ความเข้าใจถึงโรคนี้ว่า
มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวภาย ในท่อน้ำดีเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ จนอาจไปกดเบียดหรือลุกลามอวัยวะข้างเคียง ซึ่งประกอบด้วย ตับ ตับอ่อน หรือลําไส้เล็กส่วนต้น
และเนื่องด้วยท่อน้ำดีมีทั้งส่วนที่วางตัวอยู่ในตับและออกมานอกตับ จึงแบ่งชนิดของมะเร็งท่อน้ำดี ได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ มะเร็งท่อน้ำดีในตับ และมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ
สาเหตุนั้น อาจารย์หมอประวัฒน์ว่า ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบมีหลายปัจจัยสภาวะที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ของเซลล์ท่อน้ำดี จนเกิดการเติบโตอย่างผิดปกติกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้ เช่น นิ่วในทางเดินน้ำดีในตับ พยาธิใบไม้ตับ การอักเสบเรื้อรังในท่อน้ำดี ภาวะอักเสบเรื้อรัง ของลําไส้ใหญ่ และสารเคมีบางชนิด เป็นอาทิ
สำหรับอาการนั้น ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในตับและนอกตับจะแตกต่างกัน
กรณีมะเร็งท่อน้ำดีในตับ โดยคนทั่วไป คนที่ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จนกระทั่งมะเร็งมีขนาดใหญ่จนกดเบียดอวัยวะข้างเคียงหรือทางเดินท่อน้ำดีจนอุดตัน ทำให้ปวดแน่นท้อง ตัวตาเหลือง เป็นต้น
ส่วนมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ จะเริ่มมีอาการจากการอุดตันของท่อน้ำดี ทำให้ตัวตาเหลือง หรือดีซ่าน คันตามตัว อุจจาระสีซีดลง โดยอาจไม่มีอาการปวดท้องแน่นท้องมาก่อน
จะเห็นได้ว่าอาการมะเร็งท่อน้ำดีในระยะต้น มักจะน้อยและไม่ค่อยจำเพาะ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารักษา มักจะเป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่มีขนาดใหญ่หรือเริ่มลุกลามแล้ว
การวินิจฉัยโรคนั้น นอกจากอาการข้างต้น มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือ ตรวจภาพรังสีวินิจฉัย อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
การรักษานั้น หลักๆ คือ ผ่าตัด ซึ่งกรณีมะเร็งท่อน้ำดีในตับ การผ่าตัดจะประกอบด้วย การผ่าตัดตับ ส่วนกรณีมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ การผ่าตัดจะประกอบด้วย การผ่าตัดท่อทางเดินน้ำดี อาจต้องมีการผ่าตัดตับ หรืออาจต้องผ่าตัดตับอ่อนและลำไส้เล็กส่วนหนึ่งร่วมด้วย ถ้ามะเร็งท่อน้ำดีลุกลาม
เนื่องการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงรักษาในปัจจุบัน ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงไม่
่ได้ใช้เป็นการรักษาหลัก แต่อาจใช้เป็นการรักษาร่วมใน กรณีก่อนผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด
ขณะที่ผลการรักษา พบว่าปัจจุบันการรักษาผะเร็งท่อน้ำดียังไม่สู้ดีนัก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่หรือลุกลามแล้วดังนั้น จึงพบว่ามีผู้ป่วยเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่สามารถผ่าตัดได้ โดยถ้าสามารถผ่าตัดเอามะเร็งท่อน้ำดีออกได้หมด จะมีอัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี อยู่ที่ประมาณ 10-40% แต่ถ้าลุกลามไปแล้วอัตรารอดชีวิตจะต่ำกว่านั้นมาก ด้านการป้องกัน เนื่องจากไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้การป้องกันการเกิดโรคเป็นไปได้ยาก แต่สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงเกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ปลาน้ำจืดดิบ สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสารเคมีที่ไม่จำเป็น