สงครามการค้าฉุดส่งออกลด "สศอ."ปรับลดคาดการณ์ MPI และ GDP อุตฯ ปี 62 เหลือ 0-1% จากเดิม 1.5-2.5% ส่วน MPI เดือน ก.ค.ลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 100.07 หดตัว 3.23% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มองสัญญาณบวกเริ่มมีทั้งการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่เริ่มกระเตื้องและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ค.62 อยู่ที่ 100.7 หดตัวลง 3.23% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนก.ค.62 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากสงครามการค้าส่งผลให้การส่งออกได้รับผลกระทบด้วยแนวโน้มดังกล่าวทำให้ สศอ.ได้ทำการปรับประมาณการณ์ตัวเลข MPI และผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรมหรือจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2562อีกครั้งเหลือ 0.0-1.0% ทั้งนี้ได้คาดการณ์ทั้ง MPI และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2562 ไว้ว่าจะเติบโต 2-3% จากนั้นได้มีการปรับประมาณการณ์ใหม่เป็นโต 1.5-2.5% และครั้งนี้ต้องยอมรับว่าคงต้องปรับลดลงอีกครั้งด้วยเพราะปัจจัยความเสี่ยงยังคงมีต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันสัญญาณหลายๆอย่างก็เริ่มดีขึ้นโดยเฉพาะอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนก.ค.62อยู่ที่ 65.68% ซึ่งปรับตัวต่อเนื่อง รวมทั้งมีการนำเข้าสินค้าทุนบางอย่าง ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ออกมาล่าสุดด้วยการงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาทเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกในเดือนก.ค.62 ที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมการกลั่นและการผสมสุรา ขยายตัวเพิ่มขึ้น 72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากผู้ประกอบการได้ทำการตลาดโดยได้ปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากสภาพอากาศร้อนทำให้ความต้องการทั้งในและต่างประเทศขยายตัว อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากปริมาณผลปาล์มที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 เพื่อลดสต้อกน้ำมันปาล์มและดึงราคาปาล์มให้สูงขึ้น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.91% เป็นต้น