แม่ลาวเป็นแม่น้ำสายหลักของเชียงราย ต้นน้ำอยู่ดอยนางแก้ว ทิวเขาปันน้ำ เขตบ้านขุนลาว ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ไหลผ่านอ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สรวย อ.พาน อ.แม่ลาว อ.แม่สาย อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงชัย แล้วไปสมทบกับแม่น้ำกก ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง แม่ลาวจึงเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก ในขณะแม่น้ำกกเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงอีกทอดหนึ่ง ไหลจากตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความยาว 206 กิโลเมตร แม่น้ำแม่ลาวยังมีลำน้ำสาขาสำคัญหลายสาย อาทิ น้ำแม่เจดีย์ น้ำแม่ปูนหลวง น้ำแม่ตาช้างและน้ำแม่สรวย เป็นต้น พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำแม่ลาวอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่สรวยเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยก่อสร้างฝายทดน้ำเป็นระยะๆ 4 ฝาย ประกอบด้วย ฝายเจ้าวรการบัญชา ฝายแม่ลาว ฝายถ้ำวอก และฝายชัยสมบัติโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาวประสบปัญหาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มายาวนาน จนเห็นแม่แบบความสำเร็จจากอ่างเก็บน้ำดอยงูที่ก่อสร้างปิดกั้นลำน้ำแม่เจดีย์ และอยู่ภายใต้ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานเชียงราย จึงทดลองนำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรูปแบบของเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) เข้าดำเนินการบริหารจัดการน้ำ นับแต่ปลายปี 2561 เนื่องจากเป็นกระบวนกร (Facilitator) ของสำนักชลประทานที่ 2 ที่จะทำหน้าที่ Coaching ให้กับ คสป. ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และได้รับอนุมัติจากกรมชลประทานมาแล้ว อีกทั้งมีประสบการณ์ตรงจากดอยงู นายไพโรจน์ แอบยิ้ม เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานเชียงราย และคณะ จึงได้รับการมอบหมายเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาพื้นที่ส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาว ซึ่งมีพื้นที่ส่งน้ำเป็น 3 ตอน รวมแล้วประมาณ 110,000 ไร่ “ปัญหาคล้ายๆ กับพื้นที่ชลประทานดอยงู น้ำไม่พอใช้ ต้นน้ำมีน้ำใช้เหลือเฟือ ปลายน้ำไม่ได้รับน้ำ เกิดการแย่งน้ำกัน ไม่ใช่รอบเวรรับน้ำก็เปิดรับน้ำไปใช้ มีท่อผีแอบลักน้ำเกือบ 200 ท่อ” นายไพโรจน์ ย้อนสภาพปัญหาซึ่งดำรงมานานนับสิบปี ปลายปี 2561 เป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูแล้งและมีการทำนาปรัง การเข้าไปจัดทำเวทีประชาคมให้เกษตรกรได้มาพบปะสะท้อนปัญหาเป็นไปอย่างดุเดือดเหมือนทุกที่ เพราะต่างเดือดร้อนเรื่องน้ำ “ในฐานะกระบวนกร เราต้องฟังเกษตรกรให้มาก ให้เขาเล่าประวัติศาสตร์ชุมชน สรุปปัญหาอย่างเป็นระบบ เขียนให้เห็นบนกระดานตรงนั้น นอกจากนั้นยังเดินสำรวจพื้นที่ เพื่อกลับมาจัดทำแผนที่ทำมือ ชี้ให้ทุกคนเห็นสภาพปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้เกษตรกรฝึกคิดเสนอทางแก้ด้วย เพราะเป็นปัญหาของเกษตรกรเอง ไม่ใช่กรมชลประทาน แต่เราจะช่วยเติมเต็มข้อมูลหรือชุดความรู้ที่เขาขาดให้แน่นขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น” แต่การจัดพูดคุยในลักษณะเวที 55 ครั้งก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้เกษตรกร “คณะของเราต้องลงพื้นที่ร่วมไปกับเกษตรกร ไปดูปัญหาจะๆ กันเลย ตรงไหนแก้ไขได้เอง แก้ไขเลย ตรงไหนยังไม่รู้วิธีแก้ ก็เอาความรู้ด้านการชลประทานเข้าไปช่วย จนเห็นผลเป็นรูปธรรม ความไว้เนื้อเชื่อใจจึงฟื้นกลับคืนมาได้จากการลงพื้นที่ 15 ครั้ง” นายไพโรจน์กล่าวว่า การจัดเวทีและลงภาคสนามคือการเปลี่ยนความคิดจากที่รอให้รัฐช่วยอย่างเดียวก็หันมาพึ่งพาตัวเองจากความรู้ที่เกิดขึ้นในเวทีและภาคสนาม การได้เห็นภาพรวมของปัญหาน้ำทำให้เกิดความรู้สึกช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันมากขึ้น แทนใช้น้ำคนเดียวหรือใช้มาก ยิ่งไปเห็นความเดือดร้อนของพื้นที่ปลายน้ำก็ยิ่งเข้าใจความยากลำบากของคนอื่น “คนไทยมีจุดเด่นตรงที่พื้นฐานดี มีจิตใจเมตตาอยู่แล้ว พอไปเห็นปัญหาความเดือดร้อนจริงๆ เข้าก็เปลี่ยนความคิดจากที่เคยเอาเปรียบ มาเป็นการช่วยเหลือ” ผลจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเกษตรกร ปริมาณน้ำ 51 ล้านลูกบาศก์เมตรที่จัดสรรสำหรับพื้นที่ชลประทานฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562) 45,000 ไร่ สามารถขยายพื้นที่รับน้ำได้มากกว่า 100,000 ไร่ จากปริมาณน้ำก้อนเดียวกันนี้ ช่างมหัศจรรย์เหลือเชิ่อ “เราแบ่งพื้นที่ เป็นพื้นที่ชลประทานที่รับรองได้รับน้ำแน่นอน 45,000 ไร่ และพื้นที่สุ่มเสี่ยงอีกจำนวนหนึ่ง โดยเอาเกษตรกรจาก 2 พื้นที่นี้มารับรู้ร่วมขับเคลื่อนกันตั้งแต่ต้น จะส่งน้ำ จะประหยัดน้ำอย่างไร เพื่อให้พื้นที่เป้าหมายได้รับน้ำ แม้พื้นที่สุ่มเสี่ยงจะไม่ได้น้ำเต็มที่ แต่ยังได้รับพอไม่ให้ข้าวยืนต้นตาย ดีกว่าไม่ได้น้ำเลย เกษตรกรมีความสุขมาก” นาข้าวใช้น้ำเฉลี่ยไร่ละ 1,500-1,600 ลูกบาศก์เมตร ส่วนหนึ่ง 1,000 ลูกบาศก์เมตร จัดสรรให้พื้นที่ชลประทานที่รับรองว่าได้น้ำแน่ อีก 500-600 ลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยไปช่วยพื้นที่สุ่มเสี่ยง “บางคนบอกว่า 20 ปี เพิ่งเห็นน้ำมาถึงที่” นายไพโรจน์กล่าว ความสำเร็จของนาปรัง 2561/2562 ทำให้การขับเคลื่อนเวทีชาวบ้านเป็นไปอย่างคึกคัก เกษตรกรเริ่มเห็นผลของการร่วมกันคิด วางแผนและลงมือทำในลักษณะร่วมมือกันอย่างแท้จริง “เพราะเราทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษา ช่วยคัดท้าย แต่คนที่เป็นเจ้าของงานจริงๆ และลงมือทำจริงคือเกษตรกร” การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในแนวที่เกษตรกรมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ทำให้ขอบเขตงานเดิมวางแผนเฉพาะฝายแม่ลาว ขยายผลไปสู่ฝายเจ้าวรการบัญชา ฝายถ้ำวอก และฝายชัยสมลบัติ รวมพื้นที่เกือบ 300,000 ไร่ เพิ่มจากแผนเดิม 2 เท่าตัว เป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่น่าสนใจอีกมิติหนึ่ง จากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรอย่างแท้จริง