อีกไม่กี่เพลา ก็เป็นอันว่า “จาการ์ตา” จะกลายเป็น “อดีตเมืองหลวง” ของประเทศอินโดนีเซีย แดนอิเหนา หลังมติทางการรัฐบาลประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เห็นพ้องต้องใจให้ย้ายเมืองหลวงไปยังสถานที่แห่งใหม่ โดยมติข้างต้นเริ่มมีไปตั้งแต่ต้นปีนี้ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากนั้นก็ระดมสมองพิจารณาสรรหาสถานที่ที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ก่อนที่จะมาได้ “กาลิมันตังตะวันออก” จังหวัดบนเกาะบอร์เนียว เป็นสถานที่ตั้งของเมืองหลวงใหม่ ผลการเลือกสรรที่ออกมา ก็ต้องบอกว่า เป็นไปตามการคาดการณ์ของบรรดาสื่อมวลชนในอินโดนีเซีย ที่คิดไว้กันก่อนหน้าว่าจะเป็น “จ.กาลิมันตังตะวันออก” ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใน จ.กาลิมันตะวันออก ว่าที่จังหวัดเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย บนเกาะบอร์เนียว อย่างไรก็ตาม ยังคงติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลของประธานาธิบดี “โจโกวี” นิกเนมของ “โจโก วิโดโด” จะเลือกนครแห่งใดในจังหวัดดังกล่าว เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ซึ่งที่คาดการณ์กันไว้ ก็ได้แก่ เมืองบูกิตซูฮาร์โต และเมืองซัมโบจา ทว่า ไม่ว่าจะเป็นเมืองใด ก็มีรายงานกระเส็นกระสายออกมาแล้วว่า ทางการอิเหนา ได้เตรียมพื้นที่สำหรับนครหลวงแห่งใหม่ว่า จะต้องมีขนาด 18,755 ไร่ ในการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นเมืองหลวงในเบื้องต้น ส่วนงบประมาณสำหรับการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ ทางการอินโดนีเซีย โดยนายเคนเนดี ซิมานจุนตัค รอง ผอ.สำนักงานแผนพัฒนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า เบื้องต้นประเมินว่า น่าจะใช้งบประมาณ 466 ล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยประมาณกว่า 9.97 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ งบประมาณจำนวนดังกล่าว ก็จะใช้ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ศูนย์กลางรัฐบาล บ้านพักของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพนักงานรัฐกิจ ซึ่งมีจำนวนราว 1.5 ล้านคน โดยการก่อสร้าง จะเริ่มเคลียร์พื้นที่ ตอกเสาเข็ม ในปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) และจะให้แล้วเสร็จ ทันการณ์ตามกำหนดการอพยพเคลื่อนย้ายเข้าไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ ในปี พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024) หรืออีก 5 ปีข้างหน้า เหตุปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียในยุคของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ต้องตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา บนเกาะขวา เกาะที่ได้ชื่อว่า มีความมั่งคั่งมากที่สุดในขบวนเกาะแก่งต่างๆ จำนวนนับพันแห่งของอินโดนีเซีย ไปยัง เกาะบอร์เนียว ก็มีหลายสาเหตุด้วยกัน เริ่มจากปัจจัยทางด้านสภาพภูมิศาสตร์ ที่เกิดปรากฏการณ์พื้นดินในกรุงจาการ์ตา “ทรุดตัว” ลงทุกปีๆ ประมาณการกันว่า แผ่นดินของกรุงจาการ์ตา ทรุดตัวลงเฉลี่ยปีละ 20 เซนติเมตร หรือ 8 นิ้ว ซึ่งถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป อีกไม่นานก็จะได้เห็นเมืองหลวงกรุงไกรของชาวอิเหนาแห่งนี้ “จมอยู่ใต้บาดาล” เพราะถูกน้ำทะเลจาก “ทะเลชวา” เข้าท่วมพื้นที่ อย่างน้อยก็ 2 ใน 5 ของกรุงจาการ์ตาต้องอยู่ในน้ำ พื้นที่บางส่วนของกรุงจาการ์ตา ที่กลายสภาพจมน้ำ หลังแผ่นดินทรุดตัวลงทุกๆ ปี ปัจจัยทางด้านจำนวนประชากร ที่ปรากฏว่า กรุงจาการ์ตา มีปริมาณประชากรหนาแน่น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วยกัน ปรากฏว่า กรุงจาการ์ตา มีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ประชากรล้นเมือง” นครแออัดไปด้วยประชากร โดยคาดการณ์กันว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) กรุงจาการ์ตา จะแซงหน้ากรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ด้วยจำนวนประชากรราว35.8 ล้านคน ในขณะที่กรุงโตเกียว มีประชากรที่กว่า 35.2 ล้านคน ความแออัดของชุมชนในกรุงจาการ์ตา นอกจากนี้ ก็ยังมีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ ที่ประธานาธิบดีโจโกวี ต้องการให้เกิดการกระจายรายได้ ไปยังเกาะแก่งต่างๆ ซึ่งทางประธานาธิบดีโจโกวี ได้เลือกเกาะบอร์เนียว เป็นปฐม นอกเหนือจากทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่เกาะบอร์เนียวดังกล่าว เป็นที่ตั้งของอาณาเขตถึง 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ส่งผลให้ประธานาธิบดีสมัยสองของอินโดนีเซียรายนี้ ย้ายความเป็น “ฮับ” ศูนย์กลางทางการเมืองจากจาการ์ตา บนเกาะชวา ที่มีอายุเก่าแก่หลายศตวรรษมาสู่เกาะบอร์เนียว อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงท้วงติงจากภาคส่วนต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์จากมูลค่าที่ดินที่จะมีการสร้างเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่โดยกลุ่มพวกนายทุน และระบบนิเวศวิทยา ซึ่งเกาะดังกล่าว มีความสำคัญในฐานะพื้นที่ป่าฝน เพราะยังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และยังมีสัตว์ป่าอาศัยจำนวนมาก โดยที่ขึ้นเลื่องชื่อก็คือ ฝูงลิงอุรังอุตัง ที่ได้รับความหวั่นวิตกว่า จะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย