กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำชับสหกรณ์จังหวัดส่งเจ้าหน้าที่บรรเทาความเดือดร้อนสมาชิกประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เร่งออกมาตรการฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด ลดภาระนี้สิน พร้อมจัดอบรมซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประยวน พันธ์สวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้และผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พร้อมร่วมประชุมกับสหกรณ์จังหวัด 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี เพื่อหาแนวทางฟื้นฟูอาชีพสมาชิกสหกรณ์หลังน้ำลด ณ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดกระบี่
ดร.วิณะโรจน์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรในพื้นที่ประสบอุทกภัย แบ่งเป็น 3 ระยะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเร่งฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ได้แก่ มาตรการระยะเร่งด่วน ได้จัดถุงยังชีพไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัย โดยได้เปิดรับมอบเงินและสิ่งของบริจาคจากหน่วยงานและขบวนการสหกรณ์ รับบริจาคข้าวสาร ปลากระป๋อง นมพร้อมดื่ม ผัดหมี่โคราชสำเร็จรูป และเงินบริจาคส่วนหนึ่งได้นำไปจัดซื้อน้ำดื่ม ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำปลา และอาหารปรุงสุก แจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยใน 14 จังหวัดภาคใต้อย่างต่อเนื่อง มาตรการระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด จะมุ่งเน้นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยส่งเจ้าหน้าที่จากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์มาฝึกอบรมซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น เครื่องไถเดินตาม เครื่องปั้มน้ำ เครื่องตัดหญ้าที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม เน้นการเน้นฝึกปฏิบัติจากของจริง เพื่อให้นำความรู้กลับไปซ่อมได้เองโดยจะจัดอบรมรุ่นละ 25 คน และจะประสานกับวิทยาลัยเทคนิคประจำจังหวัด หรือเกษตรกรที่เคยผ่านการอบรมซ่อมเครื่องจักรกลกับทางศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) เข้ามาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในการซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตรกับเกษตรกรรายอื่นๆ โดยจะจัดอบรมซ่อมเครื่องจักรกลขึ้นในชุมชน ตำบล หมู่บ้านที่เกษตรกรสะดวกในการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาเข้ารับการอบรมการซ่อมบำรุง
ดร.วิณะโรจน์ กล่าวว่า ส่วนมาตรการระยะยาว ได้กำหนดเป้าหมายในการบรรเทาปัญหาด้านหนี้สินและจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูอาชีพการเกษตร โดยเสนอให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร ขยายเวลาชำระหนี้ของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมออกไปอีก 6 เดือน และรัฐบาลอนุมัติเงินเพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ต้องมีหนี้เงินกู้อยู่กับสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรก่อนวันประกาศภัยพิบัติ ต้องมีอาชีพเป็นเกษตรกร และต้องอาศัยอยู่ในจังหวัดเป็นเขตประกาศภัยพิบัติ นอกจากนี้ กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ยังได้จัดสรรเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลาให้กู้ 1 ปี วงเงิน 100 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ยืมไปฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกที่ประสบอุทกภัย
“สำหรับสหกรณ์ที่กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ไปเป็นทุนในการดำเนินงาน ตั้งแต่ก่อนเกิดอุทกภัย และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลทำให้ธุรกิจของสหกรณ์หยุดชะงัก ไม่สามารถชำระหนี้คืนกองทุนฯ ได้ตามสัญญา สามารถขอขยายเวลาเพื่อผ่อนผันการชำระนี้ออกไประยะหนึ่ง”


