“บิ๊กตู่” ไฟเขียวงบกลาง 2 พันล้าน แก้แล้งจ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพิ่มน้ำอ่างห้วยเสนง อำปึล ลำพอก ห้วยจระเข้มาก ห้วยตลาด เชื่อมแก้มลิง 4 แห่ง พร้อมระบบคลองผันน้ำ เล็งสร้างอ่างลำชีน้อย แก้อีสานแล้ง ท่วมซ้ำซาก เผยเกษตรฯ ชงงบรับมือแล้งท่วมปี 63 วงเงิน 3.9 หมื่นล้าน สอดรับงบบูรณาการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลกว่า 1.39 แสนล้าน เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เสนอโครงการชลประทานสำหรับช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การเกษตร จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและรองรับปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบในหลักการตามที่เสนอ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการในโครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที ภายใต้ระเบียบและกฎหมายโดยเป็นงบกลางกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับโครงการชลประทานในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ กรมชลประทานได้จัดทำโครงการระยะสั้น กลาง และระยะยาว เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงจากเดิมที่มีความจุเพียง 20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นกว่า 30 ล้านลบ.ม. การขุดลอก อ่างอำปึล และโครงการขุดร่องชักน้ำ โดยโครงการระยะเร่งด่วนและระยะสั้นภายในปี 2563 ของจังหวัดสุรินทร์จะดำเนินการ ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำห้วยเสนงระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ เบื้องต้น 750,000ลบ.ม. การขุดลอกอ่างเก็บน้ำอำปึล เพิ่มการเก็บน้ำอีก 750,000 ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำห้วยลำพอกเพิ่มน้ำอีก 1.2 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ จะปรับปรุงอ่างเก็บน้ำราชมงคลพร้อมอาคารเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองของห้วยเสนง ปริมาณ 210,000 ลบ.ม. และ การทำแก้มลิงเกาะแก้วพร้อมอาคาร ปริมาณน้ำ 1 ล้านลบ.ม. และปรับปรุงแหล่งน้ำ 4 แห่ง คือลำห้วยกระดาษ คลองบ้านสะกวน คลองบ้านตรม คลองบ้านโคกสะอาด รวมงบประมาณ 196 ล้านบาท บางส่วนได้ดำเนินการแล้ว บางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนโครงการระยะยาว (ปี2564-2566) กำหนดกรอบงบประมาณในปี 63 ประมาณ 1,800 ล้านบาทสำหรับการเพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำของห้วยเสนง และอ่างอำปึลประกอบด้วย 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอ้างห้วยเสนง วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพิ่มความจุน้ำ 10 ล้านลบ.ม. อ่างฯอำปึล วงเงิน 800 ล้านบาท เพิ่มความจุ 10 ล้านลบ.ม. และการขุดลอกแหล่งน้ำ 3 แห่งพื้นที่ตำบลศรีสุข อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ 9.6 ล้านบาท นอกจากนั้นให้มีการศึกษาการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำบริเวณชายแดนมาเติมอ่างห้วยเสนง และศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลำชีน้อย อย่างไรก็ตามโครงการเหล่านี้อาจปรับเพิ่มหรือลดได้โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางจังหวัดร่วมพิจารณา ขณะที่จังหวัดบุรีรัมย์ กรมชลประทานได้วางโครงการเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาน้ำให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้นและระยาว โดยระยะเร่งด่วนและระยะสั้น(ปี 63) มีโครงการขุดร่องชักน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การผันน้ำจากเหมืองหินเก่าไปอ่างน้ำห้วยตลาดระยะทาง 10 กม. เพื่อผลิตประปา และศึกษาการเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำอ่างห้วยจระเข้มาก และอ่างห้วยตลาด ซึ่งจะขุดลอกเป็น 2 ระยะ รวมถึงการเพิ่มความจุอ่างฯสนามบิน และอ่างห้วยสวาย งบประมาณรวม 130 ล้านบาท อีกทั้งจะทำระบบคลองผันน้ำ 7 แห่ง วงเงินรวม 379 ล้านบาท เพื่อเชื่อมบ้านตะโก-บ้านโคกยาง วงเงิน 63 ล้านพื้นที่รับประโยชน์ 350 ไร่ เชื่อมบ้านตะโกตาพิ-บ้านโคกเห็ด 65 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 200 ไร่ เชื่อมบ้านสุขสำราญ-บ้านราษฏร์นิยม 52 ล้านบาท พื้นที่ 350 ไร่ เชื่อมบ้านจะบกเค็ง-บ้านไสยา 78 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์500 ไร่ เชื่อมบ้านสี่เหลี่ยม-ลำห้วยโสนราช 76 ล้านพื้นที่รับประโยชน์ 500 ไร่ เชื่อมบ้านเย้ยสะแก-อ่างห้วยตลาด 25 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 350 ไร่และคลองเชื่อมห้วยโสนราช วงเงิน 19 ล้านบาท นอกจากนั้นจะทำแก้มลิง 2 แห่ง วงเงิน 157 ล้านบาท ได้แก่ ลำปลายมาศ 115 ล้านบาท พื้นที่ประโยชน์ 3 พันไร่ และแก้มลิงพวงบ้านสี่เหลี่ยม วงเงิน 42 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 2 พันไร่ และระบบกระจายน้ำคลองผันน้ำลำปะเทีย-อ่างฯสนามบิน วงเงิน 48 ล้านบาท และในระยะยาวในปี 2564-2566 ให้มีการศึกษาความเหมาะสมเพื่อก่อสร้างแหล่งน้ำสำรองหรือโครงการผันน้ำ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบประมาณปี2563กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะเสนอเข้าการพิจารรณาของสภา โดยจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย วงเงิน 39,624ล้านบาท แบ่งเป็นการป้องกันก่อนเกิดภัย การให้ความช่วยเหลือระหว่างเกิดภัยและการแก้ไขปัญหาระยะยาว เป็นการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน10,281 ล้านบาท การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย วงเงิน 25,925 ล้านบาท การพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพ การปฏิบัติการฝนหลวง วงเงิน 3,120 ล้านบาท รวมทั้งงบประมาณบูรณาการของรัฐบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 139,845 ล้านบาท