“เฉลิมชัย” เทงบ 3.3หมื่นล้านบาท ลุยประกันราคายาง 60 บาทต่อกก. ลั่นระยะ 6 เดือน ทำสำเร็จ ทำตามสัญญาเงินบาทแรกถึงมือเกษตรกรสวนยาง 1.1 ล้านราย เดือนต.ค.นี้ เร่งหยุดเลือดเกษตรกรขายยางขาดทุนมากว่า5ปี ระบุมั่นใจดันราคายางขึ้นแน่ พร้อมเดินหน้าเปิด “ตลาดไทยครอม” โค้ชราคายางเอง ทำประเทศไทยเป็นตลาดยางของโลก เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมาตรการรักษาเสถียรภาพยางพาราร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ในราคายางแผ่น60บาทต่อกก.จะดำเนินการในช่วงระยะเวลา6เดือน เริ่มวันที่ 1ต.ค.นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำอย่างเร่งด่วน เพราะเกษตรกรสวนยางได้รับความเดือดร้อนมากว่า5ปีแล้วเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล แต่ต้องการให้เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด อีกทั้งต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการระยะกลางและระยะยาวเพื่อให้ราคามีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน โดยขั้นตอนการปฏิบัติต่อไปให้มีกฎหมายรองรับให้เชิญผู้แทนภาคเกษตรกรมาร่วมหารือด้วย โครงการประกันรายได้จ่ายตามจริง ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนบัตรสีเขียว ที่มีเอกสารสิทธิ์ กว่า1.1ล้านราย พื้นที่ไม่เกิน25 ไร่ ซึ่งเกษตรกรถือบัตรชมพูที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เข้าโครงการประกันรายไม่ได้ กว่า3แสนราย ซึ่งจะพิจารณามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ต่อไป พื้นที่ขึ้นทะเบียนสำหรับพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ 13,326,540 ไร่ พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 3,874,850.77 ไร่ รวม 17,201,390.77 ไร่ ระยะเวลา 1 ตุลาคม 62–กันยายน 63 และประกันรายได้ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด 57 บางต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย 50 บาทต่อกิโลกรัม คิดพื้นที่ยางจากสวนยางที่อายุ 7 ปีขึ้นไป การจ่ายเงินชดเชย 2 เดือนครั้งคือ ตุลาคม 62-พฤศจิกายน 62 ธันวาคม 62-มกราคม 63และ กุมภาพันธ์ 63 วิธีการจ่ายนั้นจะจ่ายเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งนี้ กรอบงบประมาณนั้นให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อนและให้ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 64 ประกอบด้วย งบประมาณสำหรับประกันรายได้ตามโครงการ งบประมาณชดเชยต้นทุนเงินธ.ก.ส. ค่าใช้จ่ายในการโอนเงินให้เกษตรกร และค่าบริหารโครงการเหมาจ่ายร้อยละ 1 ของวงเงินชดเชยรายได้เกษตรกรสวนยางในพื้นที่บัตรสีเขียวใช้งบประมาณรวม 33,223,564,056 บาท ผลผลิต 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน ได้ปริมาณผลผลิตรวม 267,000,000 กิโลกรัม สำหรับกระบวนการดังนี้ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์และผู้มีสิทธิ์แจ้งเข้าร่วมโครงการ 7-14 วัน ขั้นตอนตรวจสอบสิทธิ์จะดำเนินการตรวจสอบเอกสาร คณะทำงานระดับตำบลรับรองพื้นที่กรีดยางเดือนละ 1 ครั้ง ตรวจสอบพื้นที่ปลูกและพื้นที่เปิดกรีด กยท. จังหวัดนำรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ผานการรับรองคณะทำงานระดับตำบลส่งให้กยท. สำนักงานใหญ่เพื่อส่งให้ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ ประกาศราคาอ้างแต่ละเดือน กยท. ประมวลผลและรวบรวมข้อมูลส่งธ.ก.ส. และธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร แล้วเจ้งกยท. ทราบ “ผมยืนยันโครงการประกันรายได้ เพื่อหยุดเลือดเกษตรกรที่ขายยางขาดทุนมาหลายปี หากไม่เร่งทำจะราคายางจะถูกกดลงไปอีก เพราะเป็นเรื่องการเก็งกำไรในตลาด ดังนั้นจะทำให้เกิดตลาดไทยครอม ทำให้ไทยเป็นตลาดกลางของพาราโลกให้ได้ ที่สามารถกำหนดราคายางในตลาดโลก ซึ่งโครงการประกันเกษตรกรสวนยางทุกราย ได้ประโยชน์บาทแรกเดือนต.ค.นี้แน่นอน ประกันราคาในระยะเวลา6เดือนให้โอกาสทุกฝ่ายยกระดับราคายางขึ้นมาได้ โดยทำเสร็จหมดทุกขั้นตอนปฏิบัติการแล้ววันนี้ที่ผ่านมาทำอย่างรอบครอบ ดูอย่างชัดเจนในเรื่องพื้นที่ปลูกยางที่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวนเกษตรกร โดยนำผลผลิตปริมาณกรีดยางรายปี 220กก.ต่อไร่ เป็นตัวคุมเพราะต้องการอุดช่องโหว่ในเรื่องการสวมสิทธิ เพื่อป้องกันการทุจริต หากพบว่าขั้นตอนใดรั่วไหลผมจะดำเนินการเด็ดขาดไม่ไว้หน้า ซึ่งการประชุมครั้งหน้าจะเชิญผู้ประกอบการ เกษตรกร ภาครัฐ มาหารือ และสุดท้ายเสนอ ครม. ภายในเดือนนี้ พร้อมกับมีมาตรการดูดซับยางออกจากตลาด 5 แสนถึง1ล้านตัน ไปใช้หน่วยงานรัฐ มั่นใจว่าทุกมาตรการเดินพร้อมกันดึงราคายางขึ้นได้แน่ “นายเฉลิมชัย กล่าวและว่าตนไม่ได้เดินหนีปัญหา อ่านข่าวยังน้อยใจ ตนอยู่ที่นี้ 4 ปี มีความตั้งใจจริงอย่างมาก ต้องการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน”รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกันนี้ ได้มีคณะกรรมการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางมี 4 ชุดได้แก่ คณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้ คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง คณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระดับจังหวัด และคณะทำงานโครงการฯ ระดับตำบล รวมทั้งลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อลดผลผลิตที่ล้นตลาด โดยเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการควรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เสริม สัดส่วนสวนยาง “จะทำให้สำเร็จภายใน 6 เดือนทำทุกมาตรการทั้งการเจรจากับหน่วยงานต่างๆ เพิ่มการใช้ยางพาราในภาครัฐ เจรจาภาคเอกชนให้ช่วยแปรรูปและหาตลาดการกำหนดวันเริ่มโครงการ เกษตรกรขึ้นทะเบียนกับ กยท. ก่อนเดือนสิงหาคม ถ้าราคายางแผ่นดิบคุณภาพดีถึง 60 บาทต่อกิโลกรัมจะหยุดโครงการ เพื่อให้ราคาขึ้นตามกลไกลตลาด ซึ่งนายกรัฐมนตรี ย้ำในที่ประชุม ครม. ทุกครั้งให้ทุกกระทรวงหาแนวทางการนำยางพาราไปใช้ประโยชน์”นายเฉลิมชัย กล่าว