สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์เรื่องราวความก้าวหน้าของแวดวงอวกาศของประเทศอ ินเดีย ที่ทั่วโลกต่างกำลังจับตากับความสำเร็จในครั้งล่าสุดนี้ โดยระบุ “ยานอวกาศจันทรายาน 2 (Chandrayaan 2) จากประเทศอินเดีย เคลื่อนที่เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากยานถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา และมีกำหนดลงจอดในวันที่ 7 กันยายน 2562 นี้ หากสำเร็จ อินเดียจะเป็นประเทศลำดับ 4 ต่อจาก รัสเซีย อเมริกา และจีน ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (#ISRO) เปิดเผยว่า ขั้นตอนการส่งยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ยากและท้าทายมาก เนื่องจากหากยานอวกาศเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่มากเกินไป แรงโน้มถ่วงดวงจันทร์จะไม่สามารถดึงยานอวกาศให้อยู่ในวงโคจรได้ และอาจทำให้ยานอวกาศเคลื่อนที่เลยจากเป้าหมายออกไปไกลในอวกาศ หรือถ้ายานอวกาศมีความเร็วน้อยเกินไป ก็จะไม่สามารถรักษาระดับความสูงขณะโคจรรอบดวงจันทร์ได้ และถูกแรงโน้มถ่วงดึงลงมาจนกระแทกกับพื้นผิวของดวงจันทร์ในที่สุด ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับระดับความเร็วของยานอวกาศขณะเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ รวมทั้งทิศทางการเอียงและความสูงจากผิวดวงจันทร์ที่เหมาะสมอย่างละเอียด ถูกต้อง และแม่นยำทุกขั้นตอน เพื่อให้ภารกิจดังกล่าวประสบผลสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ความสำเร็จในแต่ละขั้นตอนของจันทรายาน 2 เกิดขึ้นจากประสบการณ์และความสำเร็จในการส่งยานอวกาศจันทรายาน 1 เพื่อโคจรรอบดวงจันทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา สำหรับขั้นตอนถัดไป ไม่ว่าจะเป็นการลงจอดหรือสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ จะเป็นก้าวกระโดดครั้งใหม่ที่สำคัญอย่างมากสำหรับโครงการสำรวจอวกาศของประเทศอินเดีย ซึ่งจะนำไปสู่แผนการส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต เรียบเรียง : เจษฎา กีรติภารัตน์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.sciencealert.com/india-s-chandrayaan-2-is-now-i…"