กรมส่งเสริมสหกรณ์ รุกกู้วิกฤติปัญหาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง เร่งรัดติดตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เชื่อมั่นเป็นกลไกลสำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาผลผลผลิตทางการเกษตรให้สมาชิกสหกรณ์ในระยะยาว
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่เพาะปลูกทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเป็นอันดับ 3 รองจากข้าวและยางพารา รวมทั้งยังเป็นพืชที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และสามารถส่งออกได้เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ปัจจุบันเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ประสบปัญหาวิกฤติโรคระบาดไวรัสใบด่างทำให้ราคาตกต่ำอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวน 5 แสนกว่าครอบครัว และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ซึ่งที่ผ่านมา ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือในหลายด้าน หนึ่งในมาตรการสำคัญคือเร่งรัดติดตามโครงการพัฒนาสถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร (แก้มลิง) ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายในกรสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการรวบรวม จัดเก็บข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ไม่น้อยกว่า 250,000 ราย มีรายได้เพิ่มขึ้น 200-500บาท/ตัน ในสหกรณ์ 28 แห่ง ซึ่งหากโครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย จะช่วยชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ยกระดับเสถียรภาพราคามันสำปะหลังและสินค้าเกษตรเป้าหมายให้สมาชิกสหกรณ์ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เร่งผลักดันให้สหกรณ์หันมาทำธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการผลิตและการตลาด สินค้าพืชอาหารสัตว์ให้อยู่ภายในเครือข่ายของสหกรณ์ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มากขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่อยากให้สหกรณ์การเกษตรได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับคุณภาพและราคาผลผลิตเพื่อช่วยเหลือสมาชิก ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งเข้ามาร่วมดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว และจะเสริมศักยภาพการรวบรวมผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
ด้าน นางปริยากร ศิริพากุล ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเขาสวนกวาง จำกัด หนึ่งในสหกรณ์ที่ทำธุรกิจรวบรวมผลผลิตหัวมันสดจากสมาชิกให้แก่โรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในส่วนของงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่สถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร (แก้มลิง) จำนวน 5,696,000 บาท นำมาจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดเก็บผลผลิต 3 รายการ ได้แก่ ลานตาก ขนาด 4,000 ตารางเมตร, ฉาง ขนาด 500 ตัน และ เครื่องชั่งพร้อมโรงคลุม ขนาด 50 ตัน ในพื้นที่ตำบลนางิ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูก เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง ทำให้สามารถรวบรวมผลผลิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ที่ส่วนใหญ่จะนำมาแปรรูปเป็นมันเส้น ส่งขายให้กับชุมนุมสหกรณ์โคนมในจังหวัดขอนแก่น ที่ให้ราคาดีกว่าการจำหน่ายเป็นหัวมันสดแบบที่ผ่านมา
ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรเขาสวนกวาง เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ มีสมาชิกถึง 1,700 กว่าคน ปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชหลัก ในอดีตทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตหัวมันสดให้แก่โรงงานในพื้นที่ ในลักษณะซื้อมาขายไป แต่ประสบปัญหาไม่สามารถให้บริการสมาชิกได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากตัวสหกรณ์ ห่างไกลจากพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่ง อีกทั้งสหกรณ์มีพื้นที่ลานตากไม่เพียงพอ และไม่สามารถจัดสร้างเพิ่มได้ เกษตรกรจำต้องนำผลผลิตขายให้ผู้รับซื้อเอกชนในพื้นที่ จึงขาดอำนาจต่อรอง ทำให้ขายได้ราคาต่ำ
“โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ทำให้ธุรกิจของสหกรณ์เติบโตและมั่นคงขึ้น สามารถบริการสมาชิกเกือบครบวงจร เมื่อก่อนแค่ซื้อมาขายไป ปัจจุบันก็ทำแปรรูป คู่ค้ายืนยันได้ว่า มันเส้นเรามีคุณภาพ จนไม่พอต่อความต้องการ”นางปริยากร กล่าว
นางนิตยา ไสววรรณ เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเขาสวนกวาง จำกัด กล่าวเสริมว่า สหกรณ์ฯ มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือด้านเงินทุน ปัจจัยการผลิต แนะนำส่งเสริมการเพาะปลูกมาตลอด ทำให้สมาชิกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต่อมาเมื่อได้ก่อสร้างลานตากผลผลิต พร้อมเครื่องชั่ง และฉาง ด้วยงบประมาณอุดหนุนจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการรับซื้อผลผลิตได้ในปริมาณมากขึ้น และให้ราคาสูงขึ้นเมื่อนำไปแปรรูป เธอและคนอื่นๆ ในชุมชนไม่ต้องขนไปขายไกล ทั้งยังสามารถไว้ใจระบบบริหารจัดการ มั่นใจในตราชั่งที่ได้มาตรฐาน มีความแม่นยำ ทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม
“การรวบรวมผลผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้นของสหกรณ์ฯ ถือเป็นการชะลอไม่ให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินไป ชะลอไว้เพื่อที่จะขายให้กับตลาดภายนอก หรือชะลอไว้เพื่อที่จะแปรรูปเป็นมันเส้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น”นางนิตยา กล่าว
โครงการไทยนิยม ยั่งยืนของรัฐบาล ได้มีส่วนช่วยเหลือในการแก้ปัญหาหลักของภาคการเกษตร นั่นคือการสร้างกลไก ยกระดับเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกสหกรณ์ ตลอดจนส่งเสริมให้ขบวนการสหกรณ์ไทยมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน