สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “สนุกกับพันธุศาสตร์ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่กระตุ้นทักษะการคิด” เพื่อส่งเสริมให้ครูวิทยาศาสตร์ที่สอนในรายวิชาชีววิทยาระดับมัธยมปลายจำนวน 26 คน จาก 18 โรงเรียนทั่วทุกภูมิภาค นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเรื่องพันธุศาสตร์ให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ให้ครูผู้สอนในรายวิชาชีววิทยาได้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาเรื่องเทคนิคการสอน และการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนเรื่องพันธุศาสตร์ ใน 4 ด้าน ได้แก่ เนื้อหาของพันธุศาสตร์ ทักษะการเรียนการสอน สื่อที่ใช้ในการสอน และแรงบันดาลใจในการสอน ด้วยเชื่อว่าพันธุศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวิชาชีววิทยา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับยีน การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต จะมีประโยชน์ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ถ้าได้มีการนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้น ฤทัย จงสฤษดิ์  ผอ.ฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการฯ สวทช. "สวทช. มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาหลักสูตรกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนจัดอบรมครูเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็กเยาวชน ครูอาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาทรัพยากรที่มีคุณค่าที่จะร่วมกันผลักดันให้มีนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัย เพื่อช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง" นางฤทัย กล่าว สุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายวิชาการฯ สวทช. ด้านหนึ่งในทีมวิทยากรของ สวทช. นางสาวสุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. ทีมผู้พัฒนาชุดสื่อส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมในการอบรมครั้งนี้ เปิดเผยว่า การจัดอบรมครั้งนี้จะเน้นให้ครูได้เห็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมนำเนื้อหา ตามแนวทางการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำชุดกิจกรรมและสื่อการสอนไปช่วยเสริมให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาและคอนเซ็ปต์สำคัญด้านพันธุศาสตร์มากยิ่งขึ้นได้ และยังเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนเรื่องพันธุศาสตร์ให้มีความหลากหลาย เริ่มตั้งแต่กิจกรรมที่ช่วยให้เข้าใจกฎทางพันธุศาสตร์ของเมนเดล ความหลากหลายทางพันธุกรรมและการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โครงสร้าง DNA กระบวนการจำลอง DNA กระบวนการสังเคราะห์โปรตีน และจบด้วยกิจกรรมการสร้างสื่อเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องพันธุศาสตร์ด้วยเทคนิค Stop motion ซึ่งเป็นเทคนิคที่ครูสามารถนำไปใช้ประเมินความรู้ของเด็กได้โดยไม่ต้องใช้ข้อสอบมาประเมินเด็ก และยังส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ความคิดระดับสูงในการสร้างสรรค์ผลงานซึ่งเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21