กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชนชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในเชิงสังคม มีต้นทุนวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ร่วมกันมาแต่ในอดีต ทั้งในเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม ศิลปะ ศาสนา มรดกภูมิปัญญา วรรณกรรม ดนตรี อาหารการกิน ฯ ที่เหมือนหรือต่างคล้ายกัน สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกนั่นคือกิจกรรมงานวิถีถิ่น วิถีตานี วิถีอาเซียน “ศาสตร์และศิลป์ สายสัมพันธ์กริชอาเซียน” จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีร่วมกับจังหวัดปัตตานี องค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัฒนธรรมในและนอกพื้นที่ ประเทศในอาเซียน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 – 17 สิงหาคม 2562 ณ พิพิธภัณฑ์ปัตตานี จังหวัดปัตตานี เสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมเชื่อมใจร่วมกัน และยังเป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ในฐานะประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน 2562 ไฮไลท์ของงาน ขบวนบุหงาซีเระ การแสดงปัจสีลัต การแสดงต่อสู้กริชโบราณ การเดินแบบเครื่องแต่งกาย การแสดงศิลปวัฒนธรรมอินโดนีเซีย มาเลเซีย สาธิตการแกะหัวกริชและฝักกริช การพันผ้า นุ่งผ้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นในปัตตานี (กริชและผ้าโบราณ) และนิทรรศการแสดงกริชอาเซียน 8 สกุลช่าง มีความสวยสดงดงามของกริชแต่ละสกุลช่าง ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่เข้าชมอย่างมาก กริช อาวุธประจำตัว เครื่องแสดงถึงความเป็นชายชาตรี บ่งถึงฐานะทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ และยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของหรือของตระกูล รูปแบบของกริชได้พัฒนาไปตามกลุ่มวัฒนธรรมจนมีลักษณะเด่นเฉพาะตน G.C.Woolley ได้จำแนกกลุ่มของกริชไว้ในเรื่อง The Malay Keris. Its origin and development (1947) โดยอาศัยรูปแบบของด้ามเป็นหลักได้ 8 กลุ่ม ในที่นี้ไปรู้จักกริชแต่ละรูปแบบ กริชแบบกลุ่มบาหลีและมดูรา เป็นกริชของชวาฮินดู ด้ามกริชมักแกะสลักรูปบุคคล ลักษณะของกริชจะคม ลื่นเป็นมันแวววับ เนื้อเหล็กเรียบไม่มีเส้น กริชแบบชวา (Javanese) ด้ามกริชคล้ายกับศิวลึงค์หรืออวัยวะเพศชาย ปลายด้ามมนคล้ายเมล็ดถั่วหรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ บริเวณโคนด้ามเป็นปุ่มมน มีการแกะสลักเพียงเล็กน้อยตรงบริเวณใต้จุดที่หักงอของด้ามและบริเวณโคนด้ามส่วนที่เหลือจะเกลาขัดเรียบ กริชแบบคาบสมุทรตอนเหนือ (Peninsula, Northern) ด้ามกริชรูปแบบคล้ายคนนั่งกอดอก เอียงไหล่ตะแคงหน้า บนศรีษะมีครีบแหลมคล้ายหงอนไก่ ภาคใต้เรียกด้ามกริชแบบนี้ว่า “ด้ามกริชหัวลูกไก่” หรือ “ด้ามกริชหัวลูกไก่ตายโคม” กริชแบบบูกิส (Bugis) กริชกลุ่มนี้มีต้นกำเนิดมาจากชาวบูกิสในเกาะสุลาเวสี หรือเกาะซีลีเบส หรือเกาะมักกะสัน ด้ามกริชคล้ายแบบลูกไก่ตายโคม แต่จะไม่มีมือกอดอก กริชแบบสุมาตรา (Sumatran) ลักษณะของใบกริชคมยาวเรียวและแคบคล้ายกระบี่ ตรงกลางจะมีสันนูนขึ้นมา ด้ามกริชมักทำด้วยเขาสัตว์และงาช้าง กริชแบบปัตตานี (Patani) ลักษณะที่เด่นชัดคือด้ามเป็นรูปนกพังกะ (ulupekaka) ใบกริชมักยาวกว่าชนิดอื่นๆ กริชแบบซุนดา หรือ ซุนดัง (Sundang of Suluk) ลักษณะคล้ายดัดแปลงมาจากดาบ ใบกริชคล้ายกระบี่มากกว่ากริช แต่มีส่วนโกร่ง (Ganja) เด่นชัด และ กริชแบบสกุลช่างสงขลา ด้ามกริชหัวนกพังกะตัวของฝักและปีกฝักจะบางเพรียว ปลายฝักหรือก้นฝักจะเรียวแหลมเป็นรูปกรวย ปีกฝักโค้งม้วนเข้าข้างในคล้ายเขาควายนิยมใช้ปลอกเงินสวมรัดฝัก กฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ได้เห็นภาพนักเรียน นักศึกษา ประชาชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมในจังหวัดปัตตานี นอกพื้นที่ และประเทศในอาเซียนเข้าชม มีส่วนร่วมกับนิทรรศการ ทำให้เกิดการกระตุ้นปลุกจิตสำนึกรักในศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่า มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภูมิปัญญา เสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมเชื่อมใจกันคนในพื้นที่ นำไปสู่ความสมานฉันท์อย่างยั่งยืน “ที่สำคัญหลายฝ่ายช่วยกันคิดต่อยอดภูมิปัญญากริช ทั้งในด้านศิลปะการต่อสู้ การแต่งกาย อาภรณ์ ออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) มีความโดดเด่น คุณภาพมาตรฐาน มีการพบปะแลกเปลี่ยน ซื้อขาย เป็นตัวอย่างในการสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ นำทุนทางวัฒนธรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งสร้างความสัมพันธ์ทั้งในประเทศและอาเซียน ภาพลักษณ์ที่ดีต่อกันด้วยมิติทางวัฒนธรรม” ศาสตร์และศิลป์สายสัมพันธ์กริชอาเซียน