สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
"พระสมเด็จปิลันทน์นอกจากจะได้รับความนิยมสูงสุดแล้ว ยังได้รับความนิยมและยกย่องให้เป็น 1 ใน 5 ของชุดเบญจภาคีพระเนื้อผงอีกด้วย"
‘พระพุทธบาทปิลันทน์’ ขนานนามตามชื่อผู้สร้างคือ หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ (ทัด) ลูกศิษย์ใกล้ชิดในท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม และนับว่าเป็นพระภิกษุเพียงรูปเดียวที่ได้รับความไว้วางใจจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ปกครองดูแลวัดแทน สืบต่อมาก็ได้จำเริญในสมณศักดิ์ จนสุดท้ายดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) เทียบเท่ากับพระอาจารย์
ในคราวที่พระพุทธบาทปิลันทน์ (ทัด) ได้รับมอบหมายให้ปกครองวัดระฆังฯ และทำการแทนท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้น ช่วงประมาณปี พ.ศ.2407 ท่านได้ดำริสร้างพระพิมพ์ให้ครบ 84,000 องค์ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ตามคติโบราณนิยม เพื่อแจกผู้มีจิตศรัทธาไว้เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันภยันตรายส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเพื่อบรรจุไว้ในพระสถูปเจดีย์เพื่อเป็นพุทธบูชาและสืบสานพระบวรพุทธศาสนา โดยสร้างเป็นพระพิมพ์เนื้อผงใบลานเผาขึ้นเป็นจำนวนมาก แบบและพิมพ์มีความประณีตงดงามด้วยฝีมือช่างหลวงหรือช่างสิบหมู่ ในช่วงเวลาดังกล่าวท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ยังมีชีวิตอยู่ จึงสันนิษฐานว่า ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้มอบมวลสารของพระสมเด็จ รวมทั้ง "ผงปถมัง" ให้เป็นส่วนผสมในพระพิมพ์ ทั้งยังเมตตาร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วย “พระคาถาชินบัญชร” อันทรงคุณวิเศษอีกด้วย คนรุ่นเก่าจึงมักเรียกขาน “พระพุทธบาทปิลันทน์” กันในอีกนามหนึ่งว่า “พระเครื่องสองสมเด็จ”
เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ สิ้นแล้ว พระพุทธบาทปิลันทน์ (ทัด) จึงได้บรรจุพระเครื่องเหล่านี้ไว้ในพระเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระอุโบสถ โดยอุทิศส่วนกุศลถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ผู้เป็นพระอาจารย์
พระพุทธบาทปิลันทน์ แตกกรุออกมาเนื่องจากมีผู้เข้าไปเจาะกรุพระเจดีย์เพื่อหวังทรัพย์สินของมีค่าเท่านั้น ไม่ประสงค์ในพระเครื่อง ท่านเจ้าคุณพระธรรมทานาจารย์ (แนบ สิงหเสนี) ซึ่งอยู่ที่หอไตรฯ ในสระ ท่านเป็นเจ้าคณะและควบคุมดูแลในพระอุโบสถในขณะนั้น เมื่อทราบเรื่องจึงให้นำพระเครื่องทั้งหมดมาเก็บไว้ในหอไตรฯ จนเมื่อเกิดสงครามอินโดจีนท่านได้นำพระเครื่องส่วนหนึ่งมอบให้แก่กระทรวงกลาโหม เพื่อแจกจ่ายแก่ทหารที่จะออกไปปฏิบัติราชการในสนามรบอีกด้วย
นอกจากนี้ พระเทพญาณเวที (ลมูล สุตาคโม ป.ธ.6) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “พระสมเด็จ ๓ องค์” ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2515 เกี่ยวกับพระพุทธบาทปิลันทน์ มีใจความดังนี้..
“…หม่อมเจ้าพระสมเด็จพุฒาจารย์ (ทัด) กับพระปิลันทน์ (พระผง) วัดระฆัง พระปิลันทน์นั้น เป็นพระของเจ้าพระคุณหม่อมเจ้าพระสมเด็จพุฒาจารย์ (ทัด เสนีย์วงศ์) ผู้เป็นต้นคิดสร้างขึ้น เป็นพระผงใบลานเนื้อหยาบ ดำสนิทด้านๆ ไม่ดำเป็นมัน มีขี้กรุติดมากบ้างน้อยบ้าง เป็นพระไม่งาม สัณฐานเล็ก ความยาวประมาณ ๑ องคุลี ความกว้างประมาณครึ่งองคุลี ได้เคยเอาเศษหักมาตำผสมกับผงใหม่ มีกลิ่นฉุนๆ เหมือนพริกไท ส่วนประกอบที่องค์พระอันเป็นที่สังเกต เป็นพระนั่งมีปรกก็มี ไม่มีก็มี เป็นพระยืนมีซุ้มเรือนแก้วก็มี เป็นแบบพระประจำวันก็มี ดังนี้…”
จากบันทึกดังกล่าวแสดงว่า ‘พระพุทธบาทปิลันทน์’ นั้น มีการจัดสร้างมากมายหลายพิมพ์ทรง อาทิ พิมพ์ปกโพธิ์ใหญ่, พิมพ์ปกโพธิ์เล็ก, พิมพ์โมค คัลลาน์-สารีบุตร, พิมพ์ครอบแก้วใหญ่, พิมพ์ซุ้มประตู, พิมพ์เปลวเพลิง, พิมพ์หยดแป้ง และพิมพ์ปิดตา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมสะสมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “พระพุทธบาทปิลันทน์ พิมพ์ซุ้มประตู” ซึ่งได้รับความนิยมและยกย่องให้เป็น 1 ใน 5 ของชุดเบญจภาคีพระเนื้อผงอีกด้วย
‘พระพุทธบาทปิลันทน์ พิมพ์ซุ้มประตู’ เนื้อขององค์พระจะออกไปในทางสีเทาอมดำ บางท่านก็ว่าเป็นเขียวอมดำและมีคราบไขขาวเกาะแน่น พุทธลักษณะแม่พิมพ์ องค์พระปฏิมากรประทับยืน แสดงปางห้ามญาติ เหนือฐานบัว ภายใต้ซุ้มจระนำ ลักษณะเหมือนซุ้มประตูสลักเสลาอย่างงดงาม มีลายเส้นอักขระรายล้อม ลักษณะเส้นค่อนข้างกลมคล้ายเส้นขนมจีน เป็นพระเครื่องที่มีความงดงามสมกับที่ได้รับการยกย่องทีเดียว นอกเหนือจากพุทธลักษณะแล้ว พุทธคุณยังเข้มขลังเป็นที่ปรากฏโดยเฉพาะด้านเมตตามหานิยม ครับผม