นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในงานเสวนา ในหัวข้อ “Bullying & Fake News ทันเกมสารพัดพิษออนไลน์สังคมไทย” จัดโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือ ไอทีพีซี (ITPC)ว่า ในอดีตเฟคนิวส์ไม่ได้มีมากเท่าทุกวันนี้ เพราะสื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเที่ยงตรง เมื่อโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นและมีคนเข้ามา ทำให้มีข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นที่มาของศูนย์เฟคนิวส์ที่กระทรวงดีอีพยายามทำขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ และกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ทั้งนี้เชื่อว่าศูนย์ฯ จะช่วยสร้างความเข้าใจในการสื่อสาร และไม่ได้มุ่งเน้นไปทำร้ายใคร รวมถึงไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ติดตามกระบวนการสร้างเฟคนิวส์ และเร็วๆนี้จะมีการดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ทำเฟคนิวส์ และให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจากการติดตามมาระยะหนึ่งพบว่ามีกระบวนการที่เอาผิดได้โดยเป็นการทำผิดที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งการดำเนินคดีจะดำเนินการไม่เกินสองสัปดาห์จากนี้ นายณัฐพล ศรีภิรมย์ ประธานชมรม ITPC กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงของข่าวปลอมและการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบหลายภาคส่วนของสังคมไทยในทุกระดับ จัดเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้กระบวนการสื่อสารของมนุษย์ และกลไกปฏิสัมพันธ์ของสังคม ทั้งในแบบออฟไลน์ ออนไลน์ “การกลั่นแกล้ง ข่าวลวง ข่าวปลอม เราจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายตื่นรู้กับภัยใกล้ตัว ให้รับมืออย่างเท่าทันในยุคชีวิตดิจิทัลที่ทุกคนเลือกเสพสื่อออนไลน์ ใช้สื่อออนไลน์สื่อสารแทนตนเองกับผู้คนเป็นหลัก แต่เราจะทำอย่างไรที่รับมือ รู้เท่าทันกับเนื้อหาที่สร้างขึ้น จะสกัดกั้น ในแบบไหน กฎหมายต่างๆที่มีอยู่จะป้องปรามไม่ให้ปัญหานี้ ส่งผลร้ายแก่ผู้ใช้ หรือ สร้างปัญหาในการอยู่ร่วมบนโลกออนไลน์ และชีวิตประจำวันได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี” อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในขณะนี้กับปัญหา Cyber bullying คือ การละเมิดเด็ก เยาวชนบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่เรื่องการครอบครอง การซื้อขาย การแลกเปลี่ยนภาพโป๊เด็ก ล่วงละเมิดทางเพศ การโพสภาพประจานด่าทอเสียดสีซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่หลายคนทำกันหรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องส่วนตัว สิทธิของการเป็นผู้ปกครองในการอยากสื่อสารความน่ารัก ความสดใส ในสังคมได้รับรู้ เห็นในพัฒนาการ โดยบางครั้งอาจจะเกิดผลเสีย ผลกระทบตามมา หรือ กระทบต่อเด็กในอนาคต นางพิมลพรรณ ศิริวงศ์วานงาม ผู้อำนวยการ สายงานสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์การตลาด บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรู ในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลแบบครบวงจร และเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย ตระหนักถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบในการร่วมกันแก้ไขปัญหา Cyber Bullying และ Fake News ที่เป็นปัญหาใหญ่ สมควรต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพราะส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศได้ โดยในส่วนของกลุ่มทรูนั้น นอกจากทางด้านเทคนิคที่มีโปรแกรม White Net คัดกรองเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการทำแคมเปญ หยุดโกหกบนโลกอินเทอร์เน็ตในกลุ่มพนักงานแล้ว ยังได้ร่วมสร้างความตระหนักรู้ เพิ่มภูมิคุ้มกันผ่านโครงการในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับเยาวชนที่มีโอกาสถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ได้ กลุ่มทรู ได้ร่วมกับกสทช. จัดอบรมหลักสูตร “รู้ทันโลกออนไลน์” ตระเวนให้ความรู้เด็กในสถานสงเคราะห์ตามจังหวัดต่างๆ ขณะที่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญในโลกยุคดิจิทัล กลุ่มทรู ได้เปิดโอกาสให้นิสิต – นักศึกษา สร้างสรรค์ผลงานเข้าร่วมประกวด ภาพยนตร์โฆษณาเพื่อสังคม (True Young Producer Awards) หัวข้อ “Stop Cyberbullying หยุดทำร้ายกันบนโลกออนไลน์” ชิงทุนการศึกษา โดยนำผลงานรณรงค์เผยแพร่ทางโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งในระดับบุคคลทั่วไป เราได้มีการสร้างสรรค์เพลงเพื่อใช้ในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น เพลง “คิดก่อน Like (ร้าย)” ให้เกียรติขับร้องโดยพี่ปั่น ไพบูลเกียรติ เขียวแก้ว และเพลง “กดไลค์ กดแชร์” ขับร้องโดยศิลปินทรู เอเอฟ. นอกจากนี้ เรายังได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ที่ถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อจาก Fake news จนเกิดมีภาวะซึมเศร้า ไม่อยากอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป โดยกลุ่มทรู ได้ร่วมกับร.พ.สมเด็จเจ้าพระยาในพระราชูปถัมภ์ฯ จัดโครงการประกวดหนังสั้น 130 ปี หลังคาแดง หัวข้อ “ภาวะโรคซึมเศร้า” รวมทั้งเตรียมทำแคมเปญที่จะให้คำปรึกษาด้านจิตเวช แบบออนไลน์ อีกด้วย “ทั้งนี้ การแก้ปัญหา Bullying และ Fake News เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยกลุ่มทรู ได้ผนึกกำลังกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดตั้งโครงการ “ชัวร์แล้วแชร์ได้” โดยมีสมาชิก 18 สำนักข่าวที่เป็นสื่อหลักและมีความน่าเชื่อถือ ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ไปจนถึงสื่อโซเชียลมีเดีย ช่วยตรวจสอบ คัดกรอง ข้อมูลบนโลกออนไลน์ พร้อมเปิดโอกาสให้ชาวเน็ตส่งข้อมูลมาให้ตรวจสอบได้ด้วย” นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ข่าวลวง การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์ รวมถึง ปัญหาการใช้วาจาเพื่อสร้างความเกลียดชังล้วนเป็นผลกระทบเชิงลบจากการใช้งานโซเชียลมีเดียที่รัฐบาล ธุรกิจแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย องค์กรที่ดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ต ธุรกิจคอนเทนต์ออนไลน์ รวมถึง ภาคสังคม ต้องร่วมกันแสดงความรับผิดชอบและร่วมสร้างระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ดังกล่าว โดยต้องคำนึงถึงการรักษาสิทธิและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้ กรอบการทำงานร่วมกันควรร่วมเริ่มต้นจากการวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจรากฐานและแนวโน้มของปัญหาที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต โดยมองจากมุมของพลเมืองดิจิทัล หรือ digital citizens เป็นศูนย์กลาง เพื่อในท้ายที่สุดแล้ว ความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะช่วยกันสร้างสังคมดิจิทัลที่เข้มแข็งและมีความต้านทาน (digital resilience) ต่อความเสี่ยงดังกล่าวบนโลกออนไลน์ นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีมาพัฒนา Digital Infrastructure เพื่อประเทศไทย นอกเหนือจากการทำหน้าที่พัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างดีที่สุดแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน สำหรับในปีนี้เราได้ประกาศภารกิจ “อุ่นใจไซเบอร์ ที่มุ่งสร้างการตระหนักรู้และปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบการใช้ชีวิตบนโลก Online ในฐานะพลเมืองดิจิทัลด้วยการช่วยยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทัน Digital ด้วยชุดการเรียนรู้ 360 องศาหรือ DQ (Digital Quotient) พร้อมทั้งพัฒนาระบบคัดกรอง Online Content ที่ไม่เหมาะสม ด้วยระบบเทคโนโลยีผ่านบริการ AIS Secure Net และ Google Family Link โดยเรามุ่งมั่นที่จะเป็นแกนกลางในการพัฒนาความรู้ ความสามารถด้าน Digital ของเยาวชนอันจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคม Digital อย่างยั่งยืนในอนาคต รวมไปถึงเอไอเอสยังมีเจตนารมณ์ที่จะอุทิศตนเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศชาติ ด้วย Digital Platform ของคนไทยทุกคน ผ่านแนวคิด “ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย”