กรมการแพทย์ ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 9 จัดอบรมการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแท้จริง หลังเปิดให้ 19 โรงพยาบาลนำร่องใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ พบมีคนสนใจขอรับคำปรึกษาน้อย เข้าคุณลักษณะเงื่อนที่ได้ใช้น้ำมันกัญชารักษาทางการแพทย์ เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ (22 ส.ค.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 9 จัดอบรมการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ปีงบประมาณ 2562 ขึ้น ซึ่งหลักสูตรการอบรมเป็นหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง โดยมีนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิด มีนายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวรายงาน ที่ห้องประชุมสนามช้างอารีน่า ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ในเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีความรู้ ความเข้าใจในการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแท้จริง ผู้เข้าอบรม ประกอบด้วย แพทย์และเภสัชกร ที่มีใบประกอบวิชาชีพ จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ของเขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 200 คน โดยผู้เข้ารับการอบรมที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบความรู้หลังการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากกรมการแพทย์ เพื่อใช้ประกอบการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการเป็นผู้สั่งใช้–จ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ต่อไป นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายเร่งรัดให้นำสารสกัดกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อการรักษา ควบคุมอาการของโรค ภาวะของโรคที่การรักษาด้วยวิธีมาตรฐานยังไม่ได้ผล ซึ่งการใช้กัญชาทางการแพทย์มีความก้าวหน้าและเป็นพลวัตอย่างยิ่ง และอาจก่อให้เกิดความสับสนในหมู่บุคลากรสาธารณสุขได้ ปัจจุบันพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่7) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 มีสาระสำคัญ คือ กัญชายังคงจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 แต่คลายล็อกให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้ ดังนั้น เพื่อให้การใช้สารสกัดจากกัญชาทางแพทย์เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย เป็นไปตามหลักการของกรมการแพทย์ 3 ประการ ได้แก่ ปลอดภัยต่อผู้ป่วย เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ คือ การใช้สารสกัดกัญชาอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผลในการใช้เสริมการรักษามาตรฐานที่ได้รับในปัจจุบันเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้การดูแลของบุคลากรสาธารณสุขที่ผ่านการการอบรมหลักสูตรการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ 19 โรงพยาบาลนำร่อง ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ เป็นโรงพยาบาล แพทย์แผนปัจจุบัน 12 โรง และโรงพยาบาล แพทย์แผนไทย 7 โรง ซึ่งโรงพยาบาล แพทย์แผนปัจจุบันพร้อมแล้ว ทั้งแพทย์ เภสัชกร และสารสกัดกัญชาเบื้องต้น แต่อาจจะไม่ได้รับครบทั้งหมด ช่วงแรกที่ได้เป็นสารสกัดกัญชาชนิด THC สูง “หลังจาก 12 โรงพยาบาลศูนย์ เปิดนำร่องในการใช้น้ำมันกัญชารักษาทางการแพทย์ พบว่าแต่ละวันมีคนไปขอรับคำปรึกษาไม่ถึง 5 ราย ส่วนที่กรมการแพทย์ สถาบันมะเร็ง มีคนลงทะเบียนออนไลน์ขอรับคำปรึกษา ประมาณ 3,000 ราย แต่เข้ามาขอรับคำปรึกษาก็มีจำนวนไม่มากเช่นกัน ซึ่งดูแล้วจากจำนวน 3,000 คน มีคนที่จะเข้าในคุณลักษณะเงื่อนที่ได้ใช้น้ำมันกัญชารักษาทางการแพทย์ เพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น” น.พ.สมศักดิ์ กล่าว